ข่าว

เลขกฤษฎีกาตีความ “บิ๊กโจ๊ก” ถูกสั่งให้ออกจากราชการ

อัปเดตความคืบหน้าล่าสุด กรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีการสั่งปลด พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก ออกจากราชการไว้ก่อน โดยระบุว่านายกรัฐมนตรีมีหน้าที่นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ออกจากราชการไว้ก่อน

อ้างอิงจาก นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในความเห็น เรื่องเสร็จที่ 637/2567 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤฎีกา เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชไว้ก่อน

Advertisements

ดังนั้น การปลด “บิ๊กโจ๊ก” นั้น นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการนำความกราบบังคมทูลนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี แต่ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

คณะกรรมการกฤษฎีกายังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนอย่างรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน

โดยสรุป นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ต้องรอผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติก่อน จึงจะสามารถนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พ้นจากตำแหน่งได้

เลขที่เกี่ยวข้องกับเอกสารกฤษฎีกาตีความ “บิ๊กโจ๊ก”

  • เรื่องเสร็จที่ 637/2567

เปิดเอกสารกฤษฎีกา ปลด “บิ๊กโจ๊ก”

Advertisements

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงาน ก.พ.) และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตามคำชี้แจงของผู้แทน ตร.ว่า

กรณีตามข้อหารือนี้ ตร.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวตามมาตรา 105,108,119 และ 179 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในวันเดียวกันกับที่ ตร.มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อน

นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าว (พล.ต.อ.สุรเชษฐ์) ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจแล้ว

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) พิจารณาข้อหารือ และข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว เห็นว่าข้อหารือนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อ ตร.มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และมาตรา 179 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 หรือไม่ และจะต้องดำเนินการเมื่อใด ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 เห็นว่า มาตรา 131 วรรค 6 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 บัญญัติให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.ซึ่งปัจจุบัน ก.ตร.ยังไม่ได้ออกกฎ ก.ตร.ในเรื่องดังกล่าว แต่มาตรา 179 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้บัญญัติรองรับไว้ว่า

ในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกกฎ ก.ตร.ให้นำกฎ ก.ตร.ซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.นี้ ด้วยเหตุนี้การดำเนินการเกี่ยวกับการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงต้องดำเนินการตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการพ.ศ. 2547 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2547 และใช้บังคับอยู่เดิมต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2565

กรณีนี้จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน ให้ต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 หรือไม่

ซึ่งมีความเห็นว่า เมื่อมาตรา 140 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 บัญญัติหลักการเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผบ.ตร.ว่าจะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ซึ่งส่งผลให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ไม่เข้าข้อยกเว้น ที่จะไม่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง เนื่องจากมิใช่การพ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ด้วยเหตุที่การออกจากราชการไว้ก่อน มิใช่โทษทางวินัยตามมาตรา 115 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

จึงเห็นว่าข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน มิได้ขัด หรือแย้งกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ดังนั้นในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อหารือนี้ จึงต้องดำเนินการตามข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร.ดังกล่าว

กล่าวคือนายกรัฐมนตรี จะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผบ.ตร.รายดังกล่าว พ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน

สำหรับกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งนั้น เมื่อพ.ร.บ.
ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ไม่ได้บัญญัติระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการในกรณีนี้ไว้ จึงเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาอันเหมาะสมตามควรแก่กรณีต่อไป

อนึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีข้อสังเกตว่า ในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายใดพ้นจากตำแหน่งนั้น โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องของการสั่งให้ข้าราชการรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อนอย่างรอบคอบ ให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

เมื่อในกรณีนี้พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีผลเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติขึ้นมาใหม่ จากที่เคยบัญญัติไว้แต่เดิมในพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 หลายประการ โดยมีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจเป็นไปตามหลักนิติธรรม และเกิดความเป็นธรรม ดังจะเห็นได้จากคำปรารภของพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และมาตรา 60 ที่ได้บัญญัติหลักการใหม่ ให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจคำนึงถึงระบบคุณธรรม มาตรา 60(4) บัญญัติให้การดำเนินการทางวินัยต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรม และโดยปราศจากอคติ รวมทั้งบัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจและคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และพิจารณาเรื่องร้องเรียนประกอบกับมาตรา 120 วรรค 4 ได้เพิ่มหลักการใหม่นอกเหนือจากมาตรา 131 วรรคหนึ่ง

โดยบัญญัติว่าในระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างให้กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งในกรณีนี้ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน มีขึ้นในวันเดียวกันกับวันที่มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน และการสอบสวนย่อมเป็นการกระทบสิทธิหลายประการของผู้ถูกสอบสวน

กรณีจึงเห็นได้ว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายนี้ออกจากราชการไว้ก่อนหากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น ย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งการกระทบสิทธิของผู้นั้น และความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากข้าราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม

ลงชื่อ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

พฤษภาคม 2567

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button