กรมราชทัณฑ์ แจงเหตุปฏิเสธให้ข้อมูลภาพวงจรปิด ตอนรักษา ‘บุ้ง เนติพร’
กรมราชทัณฑ์ ปฏิเสธให้ข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิด บุ้ง เนติพร ตามที่ทนายความร้องขอ อ้างละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพและอาจส่งผลเสียต่อชื่อเสียงผู้เสียชีวิต ครอบครัว และกรมราชทัณฑ์
วันที่ 24 พ.ค.67 กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณี นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ และ น.ส.วีรดา คงธนกุลโรจน์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจ เดินทางไปขอข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ทำการตรวจรักษา น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” นั้น
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่ากรณีดังกล่าว ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แจ้งให้ทนายความได้รับทราบว่า ยังไม่สามารถส่งมอบข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลฯ แก่ทนายความของน.ส.เนติพรฯ ตามที่ร้องขอได้
เนื่องจากเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาให้เกิดความถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด ได้แก่ สิทธิส่วนบุคคลของผู้ต้องขังซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ และสิทธิส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจรักษาในขณะเกิดเหตุ รวมทั้งภาพไม่เหมาะสมของผู้ที่เสียชีวิต ในช่วงเวลาที่กำลังตรวจรักษาอาการเจ็บ ก่อนเกิดเหตุเสียชีวิต
โดยกรณีสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าว ถือเป็นกรณีละเอียดอ่อนซึ่งหากเผยแพร่ไปสู่สาธารณะ อาจเป็นฐานข้อมูลและคงอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตหรือโลกโซเชียล (ดิจิทัลฟุตพริ้นท์) โดยไม่ปรากฏหลักประกันว่าแม้ระยะเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็อาจจะไม่สามารถนำออกจากระบบดังกล่าวได้
อีกทั้งยังเป็นการยากที่จะตรวจสอบได้ว่าข้อมูลดังกล่าวยังอยู่ในระบบโซเชียลมีเดียหรือไม่ ดังนั้น จึงถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต ญาติผู้เสียชีวิต และอาจเสียหายแก่ทางราชการในด้านของการควบคุมและตรวจรักษาผู้ต้องขังภายในเรือนจำ
ดังนั้น กรมราชทัณฑ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งการพิจารณาให้ข้อมูลดังกล่าวแก่บิดามารดาของผู้เสียชีวิต และเรียนเชิญนัดหมายให้ไปตรวจสอบและปรึกษาหารือร่วมกันกับทางทัณฑสถานฯ และเพื่อให้การยืนยันว่าทางครอบครัวผู้เสียชีวิตมีความต้องการให้ทางกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่าการเปิดเผยข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดตามที่ทนายความร้องขอได้หรือไม่อย่างไรนั้น ต้องถือปฏิบัติตามหลักการที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอื่น
และของผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ที่กำหนดไว้ตาม ม.15 (5) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ประกอบกับ ม.7 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ตัดสิทธิของผู้ที่ยื่นขอข้อมูลดังกล่าวที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น และขอให้ติดตามข้อมูลทางการแพทย์และผลการชันสูตรอย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กรมราชทัณฑ์ เผยประวัติการรักษา บุ้ง ทะลุวัง กลับมาทานอาหาร 13 เม.ย.
- ทนายยื่นขอประวัติรักษา บุ้ง ทะลุวัง เผยถูกเลื่อนมาแล้ว 7 ครั้ง
- ราชทัณฑ์ แถลงโต้ ทนาย บุ้ง ใส่ท่อช่วยหายใจผิด ทำสาเหตุเสียชีวิต