ข่าว

ตอบสงสัย ‘พนักงานเก็บค่าทางด่วน’ มาทำงานยังไง ไม่ได้มุดท่อ โรยตัว อย่างที่คิด

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตอบเอง แท้จริงแล้ว ‘พนักงานเก็บค่าทางด่วน’ เดินทางมาทำงาน-กลับบ้าน ด้วยวิธีนี้ ไม่ได้มุดท่อ โรยตัว อย่างที่เข้าใจ

ชาวเน็ตพากันหาคำตอบกันให้วุ่น เมื่อผู้ใช้ TikTok บัญชี @ummie..28 โพสต์คลิปขณะโดยสารรถยนต์ผ่านด่านเก็บค่าทางด่วน พร้อมทิ้งคำถามชวนสงสัยเกี่ยวกับอาชีพพนักงานเก็บค่าทางด่วนไว้ว่า “มีใครสงสัยเหมือนกันไหมว่า พนักงานเก็บเงินค่าทางด่วน ตอนเขามาทำงานเขามากันทางไหนกลับกันทางไหน”

แม้จะฟังดูเป็นคำถามทั่ว ๆ ไป แต่กลับมีน้อยคนนักที่จะหาคำตอบให้กับข้อสงสัยนี้ ซึ่งหลังจากเผยแพร่คลิป ชาวเน็ตจำนวนมากก็พากันคาดเดาไปต่าง ๆ นานาถึงวิธีการเดินทางมาทำงานของเหล่าพนักงาน

พนักงานทางด่วน
ภาพจาก : ummie..28

คอมเมนต์ส่วนหนึ่งของชาวเน็ตก็เป็นไปในเชิงคาดเดาแบบขบขัน อาทิข้อความที่ว่า “โรยตัวลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ค่ะ”, “นั่งพารามอเตอร์มาคับผมเคยเห็น”, “จะมีท่ออยู่ใต้ที่เขานั่งครับ เลิกงานกดปุ่ม ดูดลงไปเลย” และ “มีทางเข้าใต้ดินแล้วไปโผล่ที่ตู้เลย ผมทำงานอยู่”

คอมเมนต์ พนักงานเก็บค่าผ่านทาง
ภาพจาก : ummie..28

ล่าสุด (12 พฤษภาคม 2567) เพจเฟซบุ๊ก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ออกมาโพสต์ไขกระจ่างให้ทุกท่าน โดยระบุว่า พนักงานเดินทางมาทำงานตามปกติเช่นอาชีพอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโดยสารรถขนส่งสาธารณะ และการขับรถยนต์ส่วนตัว แต่สำหรับกรณีขับรถส่วนตัวมาเองก็จะสามารถนำรถไปจอดได้ที่ลานจอดสำหรับพนักงาน และระหว่างเดินทางก็ต้องชำระค่าผ่านทาง

“พนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษ มีวิธีการมาทำงานเหมือนหลาย ๆ คนนั่นแหละค่ะ ไม่ว่าจะขับรถส่วนตัวมา หรือเดินทางโดยรถสาธารณะ ซึ่งการขับรถส่วนตัวมา ก็ต้องจ่ายค่าทางด่วน เหมือนผู้ใช้ทางตามปกติ อ่อ! เรามีอาคารด่านฯ สำหรับปฏิบัติงานและเป็นที่พักสำหรับพนักงานอยู่นะคะ ไม่ได้มีเฉพาะตู้เก็บค่าผ่านทาง

ทั้งนี้ แต่ละด่านฯ ก็จะจัดที่จอดรถสำหรับพนักงานไว้ ทั้งด่านพื้นราบและด่านลอยฟ้าด้วยค่ะ ถ้าจอดไว้ข้างล่างด่านลอยฟ้าก็จะมีบันไดเดินขึ้นไปทำงานด้านบน

นอกจากนี้ กรณีพนักงานสำรองตามด่านที่ทดแทนพนักงานที่ลา ทางแผนกจัดเก็บ ก็จะมีรถรับ-ส่งระหว่างด่านให้สามารถไปปฏิบัติงานได้สะดวกค่ะ”

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

งานนี้จึงเป็นที่กระจ่างแล้วว่าพนักงานเก็บค่าทางด่วนเดินทางมาทำงานกันอย่างไร ส่วนข้อสงสัยที่ว่าหากพนักงานปวดท้อง หรือต้องการเข้าห้องน้ำก็จะมีพนักงานสำรองมารับหน้าที่แทน และเมื่อเสร็จสิ้นหน้าที่ก็จะมีรถรับ-ส่งไปยังสถานที่อื่น ๆ ต่อ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button