นักวิจัยพบ ‘หลุมยุบ’ ใต้ทะเลที่ลึกสุดในโลก นอกฝั่งเม็กซิโก ที่ไม่อาจสำรวจถึงก้นหลุม
ค้นพบครั้งใหญ่ นักวิจัยพบ ‘หลุมยุบ’ ในบริเวณใต้ทะเลที่ลึกที่สุดในโลก นอกฝั่งเม็กซิโก ยอมรับว่าใหญ่มากจนไม่สามารถลงไปถึงก้นมหาสมุทรได้
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว cbsnews รายงานถึงความลึกของหลุมยุบ ทามจา (Taam Ja’ Blue Hole) หลุมน้ำเงินยักษ์ที่อยู่ในอ่าวเชตูมัล (Chetumal Bay) ประเทศเม็กซิโก ที่แต่เดิมเคยถูกจัดอันดับว่าเป็นหลุมยุบที่มีความลึกเป็นอันดับที่ 2 ของโลก แต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยและนักสำรวจใต้น้ำได้ลงไปสำรวจอีกครั้ง ด้วยอุปกรณ์ใหม่ และทำให้พบว่า หลุมนี้ลึกยิ่งกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก
หลุมยุบ (Sinkhole) สุดมหัศจรรย์ใต้ท้องทะเลลึกเหล่านี้ ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หลุมน้ำเงิน” (Blue Hole) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และในขณะเดียวกันก็ถือเป็นธรณีพิบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะเกิดจากการยุบตัวของชั้นดิน มีลักษณะของพื้นผิวที่พังทลายสู่ใต้ดิน ดังนั้นความลึกและความกว้างของปากหลุมจึงแตกต่างกันไป
อ้างอิงจากรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Marine Science บรรดานักวิจัย ระบุว่า ‘หลุมทามจา’ นั้น ลึกกว่าที่เคยประเมินไว้จากข้อมูลที่ได้จากทีมนักประดาน้ำที่ลงไปสำรวจหลุมยุบใต้ทะเลแห่งนี้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพราะเดิมทีนักวิจัยประมาณความลึกของหลุมไว้ที่ 274 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งการสำรวจครั้งนั้นใช้อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงสะท้อนกลับ (Echo Sounder) แต่ด้วยการกะระยะด้วยคลื่นเสียงนั้นมีข้อจำกัด เพราะรูปร่างของหลุมน้ำเงินใต้ทะเลนั้นซับซ้อนและค่าความหนาแน่นของน้ำก็เปลี่ยนแปลงตามความลึก
ในครั้งนี้ทีมนักวิจัยใช้อุปกรณ์ที่มีชื่อว่า SWiFT CTD ซึ่งวัดค่าความนำไฟฟ้า อุณหภูมิ และความลึกได้แม่นยำกว่า ทำให้พบว่าแท้จริงแล้วหลุมมีความลึกกว่า 420 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งก็เป็นเพียงตัวเลขของระดับความลึกที่ทีมนักประดาน้ำสำรวจวัดได้ เพราะหลุมนี้ลึกมากขนาดที่ว่าอุปกรณ์สำรวจไม่สามารถไปถึงก้นหลุมได้ อีกทั้งยังเป็นระดับที่ลึกกว่าทะเลชั้น Mesopelagic Zone หรือ โซนสนธยา (Twilight Zone) ที่มีระดับความลึกที่ 200-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และแสงสว่างสามารถส่องลงมาถึงเพียง 1% เท่านั้น
การค้นพบนี้ได้ทำให้ ‘ทามจา’ ขึ้นแท่นเป็นหลุมน้ำเงินที่ลึกที่สุดในโลกทันที แซงหน้าหลุมยุบใต้ทะเลแห่งอื่น ๆ เช่น หลุม Sansha Yongle Blue Hole ในทะเลจีนใต้ ซึ่งวัดความลึกได้ 301 จากระดับน้ำทะเล, หลุมยุบ Dean’s Blue Hole ในแถบหมู่เกาะบาฮามาส์ mujคาดว่ามีความลึกราว ๆ 202 จากระดับน้ำทะเล และหลุมยุบ Dahab Blue Hole ในอียิปต์ ที่มีความลึกประมาณ 130 จากระดับน้ำทะเล
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นค้นพบหลุมยุบที่ลึกที่สุดเกินจะสำรวจได้ แต่หลุมน้ำเงินก็ถือเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพเปรียบเสมือนโอเอซิสกลางทะเลทราย ซึ่งองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ระบุว่า หลุมน้ำเงินเปี่ยมด้วยชีวิตสัตว์น้ำ ทั้งปะการัง ฟองน้ำ สัตว์จำพวกพวกหอย ทะเล เต่าทะเล ฉลามและอื่น ๆ อีกมากมาย
ปัจจุบัน องค์ความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับหลุมเหล่านี้ยังถือว่าน้อยมาก เหตุเพราะเข้าถึงยากและสำรวจค่อนข้างลำบาก ข้อมูลบอกตำแหน่งที่มีอยู่ก็มักจะได่จากชาวประมงและนักประดาน้ำในพื้นที่มากกว่ามาจากการสำรวจของนักวิจัยทางทะเล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักวิทย์ฯ พบ ฟอสซิลกะโหลกโลมาแม่น้ำโบราณสายพันธุ์ใหม่ อายุ 16 ล้านปี
- นักโบราณคดี อ้าง ‘พีระมิดเก่าแก่ที่สุดในโลก’ อายุ 25,000 ปี ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์