เริ่มต้นเดือนใหม่ เช็กสิทธิโครงการรัฐบาลจากกรมบัญชีกลาง เงินอุดหนุนบุตร (เงินเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด) ได้รับเดือนละ 600 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โอนเงินเข้าบัญชีสูงสุด 1,000 บาท วันไหน มีช่องทางการลงทะเบียนและขั้นตอนอย่างไรบ้าง เช็กรายละเอียดได้แล้วที่นี่
เงินอุดหนุนบุตร พ.ค. 67 โอนเข้าบัญชีวันไหน
ปฏิทินโครงการเงินอุดหนุนบุตรเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กำหนดโอนเข้าบัญชี ในวันศุกร์ที่ 10 พฤศภาคม 2567 ตามเงื่อนไขการจ่ายเงินเข้าบัญชีทุกวันที่ 10 ของเดือนนั้น ๆ
หากวันโอนเงินตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดข้าราชการประจำปี ก็จะปรับไปโอนเข้าบัญชีล่วงหน้าก่อนวันหยุด มีรายละเอียดการโอนเงิน ดังนี้
– เงินอุดหนุนบุตร ตั้งแต่เด็กแรกเกิด-6ขวบ
– โอนเงิน คนละ 600 บาทต่อเดือน
– จัดสวัสดิการให้กับเด็กแรกเกิด ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อครัวเรือน ไม่เกิน 100,000 บาท
วิธีลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนบุตร ปี 2567
ผู้ปกครองที่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ “เงินอุดหนุนบุตร” สามารถตรวจสอบเงื่อนไข รายละเอียดการสมัครได้ดังต่อไปนี้
คุณสมบัติผู้ปกครอง
- เป็นบิดา มารดา หรือ บุคคลอื่นที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
- เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
- อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (สมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี)
- ผู้ปกครองรับเงินผ่านบัญชีที่ผูกบริการพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน
เงื่อนไขเด็กแรกเกิด
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มีสัญชาติไทย
- อาศัยอยู่กับผู้ปกครองในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
- ต้องไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐและเอกชน
พิกัดลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนบุตร
- กรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต
- เมืองพัทยา ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
- ส่วนภูมิภาค ลงทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล
ช่องทางตรวจสอบเงินอุดหนุนบุตร
- เว็บไซต์ : กรมกิจการเด็กและเยาวชน >> คลิก
- แอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
- แอปพลิเคชั่น “เงินเด็ก”
เอกสารสำหรับลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
- แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
- แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
- สูติบัตรเด็กแรกเกิด
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง
- ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ ของสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่ประกอบอาชีพ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานบริษัท
- สำเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตำแหน่ง หรือเอกสารอื่นใด ที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
กำหนดการจ่ายเงินอุดหนุนบุตร ปี 67
- พฤษภาคม 2567 วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567
- มิถุนายน 2567 วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567
- กรกฎาคม 2567 วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567
- สิงหาคม 2567 วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567
- กันยายน 2567 วันอังคารที่ 10 กันยายน 2567
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ค. 67 เข้าบัญชีวันไหน-กี่บาท
สิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รัฐบาลโอนเงินเข้าบัญชีวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 สูงสุด 1,000 บาท เพื่อใช้ดำรงชีวิตหลังเกษียณหรือไม่มีรายได้จากการทำงาน ตามเกณฑ์ขั้นบันไดอายุดังต่อไปนี้
- ผู้สูงอายุอายุ 60-69 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน 600 บาท
- ผู้สูงอายุอายุ 70-79 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน 700 บาท
- ผู้สูงอายุอายุ 80-89 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน 800 บาท
- ผู้สูงอายุอายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพจำนวน 1,000 บาท
วิธีลงทะเบียนผู้สูงอายุ ปี 2567
ผู้สูงอายุสามารถ ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ มกราคมถึงกันยายน 2567 ที่สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือที่ว่าการอำเภอ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ตามวันและเวลาราชการ โดยมีคุณสมบัติตามที่กำหนดได้แก่
1. สัญชาติไทย
2. เป็นผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2568 นับจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2568 เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2508
3. ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 หรือผู้ที่ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติคณะรัฐมนตรี
กรณีที่ 1
- ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป (ปีงบประมาณ 2568)
กรณีที่ 2
- ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2568 (คนที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2508) จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2568 โดยจะได้รับเบี้ยยังชีพในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ใช้เอกสารอะไรบ้าง
หากเป็นกรณีที่เอกสารที่ต้องเตรียมกรณีผู้มีสิทธิดำเนินการด้วยตนเอง ผู้ลงทะเบียนจะต้องเตรียม
1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
2. ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ที่เป็นปัจจุบัน
กรณีขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
1. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ พร้อมสำเนา ของผู้มีสิทธิ หรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ
2. รายชื่อธนาคารขึ้นอยู่กับดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง
กรณีผู้สูงอายุไม่สะดวกดำเนินการด้วยตนเอง
1. หนังสือมอบอำนาจ (แบบฟอร์มมอบอำนาจขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ข่าวดี สายฟรีแลนซ์ ขยายเวลากู้เงินกองทุน “ผู้รับงานไปทำที่บ้าน” ถึง 31 พ.ค. 67
- ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขอรับเงินคืนใน e-Money ผ่านพร้อมเพย์ ตามขั้นตอนนี้
อ้างอิง : กรมบัญชีกลาง