รฟท. ซ่อมแล้ว รางรถไฟงอ จ.นครศรีธรรมราช อากาศร้อนเป็นเหตุ
การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงซ่อมแล้ว รางรถไฟงอ จ.นครศรีธรรมราช ช่วงสถานีร่อนพิบูลย์ – สถานีชุมทางเขาชุมทอง อากาศร้อนเป็นเหตุ
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกโรงชี้แจง จากกรณีที่รางรถไฟระหว่างสถานีร่อนพิบูลย์ – สถานีชุมทางเขาชุมทอง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะคดงอ จากการตรวจพบรางรถไฟในเส้นทางดังกล่าวเกิดการคดงอ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ประกอบกับเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ส่งผลกระทบให้หมอนคอนกรีต รองรางรถไฟ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่โล่งแจ้ง เกิดการขยายตัวและเกิดแรงเค้น(stress) ภายในรางสูงมากขึ้น เป็นเหตุให้แนวรางรถไฟมีลักษณะคดงอ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการช่างโยธา การรถไฟฯ ร่วมกับมูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ ได้นำน้ำและน้ำแข็ง มาฉีดบรรเทาความร้อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง รางรถไฟจึงกลับคืนสภาพตามปกติ และ เปิดใช้งานได้
ขณะเดียวกันได้ทำการตรวจสอบสภาพทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ และจะทำการเพิ่มหินโรยทางในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อรักษาแนวรางรถไฟให้อยู่ในสภาพมั่งคงและปลอดภัย แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนในปัจจุบัน ทำให้เหล็กรางรถไฟ เกิดการยืดตัวตามหลักวิศวกรรม ซึ่งสามารถแก้ไขได้ โดยการรถไฟฯ มีการตรวจสภาพทางโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการช่างโยธาเป็นประจำทุกวัน
ขณะที่ นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบนโยบายให้ ฝ่ายการช่างโยธา เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบสภาพทางรถไฟทั่วประเทศ ทั้งเรื่องของรางรถไฟที่เกิดจากความร้อน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่กลางแจ้งสองข้างทางรถไฟ รวมถึงให้นายสถานีทุกพื้นที่อำนวยความสะดวกและดูแลการเดินทางแก่ผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกสบาย พร้อมรับมือกับสภาวะอากาศร้อนที่เกิดขึ้น ตามพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาภายในช่วงนี้
ท้ายนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้ประชาชนมั่นใจถึงความปลอดภัยในการเดินขบวนรถ ซึ่งการรถไฟฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นายกฯ เป็นห่วงสุขภาพประชาชน หลังไทยเจออากาศร้อนจัด
- ทนร้อนอีกนิด กรมอุตุ เปิดเรดาร์ ฝนใกล้จะตกแล้ว
- กรมอุตุฯ ออกประกาศ เตือน 3-7 พ.ค. ระวังพายุฝนฟ้าคะนอง