ข่าว

ถอดความหมาย ‘ทศมราชัน’ ชื่อพระราชทาน สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 จากในหลวง

‘ทศมราชัน’ อ่านว่า ทด-สะ-มะ-รา-ชัน สะกดเป็นภาษาอังกฤษ Thotsamarachan เป็นชื่อพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้ สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 สำหรับข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

ทศม (ทัสสะมะ) แปลว่า ที่สิบ มาจากรากศัพท์ว่า ทส ธาตุ หมายถึง 10 บวกกับ (มะ) ปัจจัย ราชัน แปลว่า พระราชา มาจากรากศัพท์ว่า ราช (ราชา) หมายถึง ปกครอง บวกกับ (นะ) เป็น ราชัน (ราชา-นะ) แปลว่า ผู้ปกครองหรือ พระราชา

Advertisements

เมื่อนำ ทศม (ทัสสะมะ) มาผสมกับ ราชัน (ราชา-นะ) จึงได้เป็น ทศมราชัน (ทดสะมะ-รา-ชัน) ซึ่งแปลว่า พระราชาลำดับที่สิบ

นับว่าเป็นชื่อมงคลและมีความหมายที่ดี เพราะตัวสะพานตั้งทอดเลียบคู่กับสะพานพระราม 9 อันหมายถึง พระรามที่ 9 ซึ่งเป็นพระรามเรียก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาของในหลวงรัชกาลปัจจุบันนั่นเอง

สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 (ทศมราชัน) เปิดใช้วันไหน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เคยกล่าวว่า “สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) แบบเสาคู่ที่สร้างคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 ซึ่งถือว่าเป็นสะพานคู่ขนานแห่งแรกของประเทศไทยที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาออกแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานความเป็นไทย ผนวกกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง ทำให้สะพานมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความสวยงาม และเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศไทย”

ด้านนายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา กทพ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สะพานนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย รองรับการสัญจรถึง 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ความยาวของสะพาน 780 เมตร ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 41 เมตร (สูงเท่ากับสะพานพระราม 9 เดิม) และหากเปิดให้บริการ

คาดการณ์ว่าจะสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้มากถึง 150,000 คัน/วัน ช่วยลดความแออัดทางจราจรบริเวณทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 จาก 100,470 คัน/วัน เหลือ 75,352 คัน/วัน หรือลดลง 25% และสามารถ เชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) ของกรมทางหลวงอีกด้วย”

Advertisements

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะเปิดใช้สะพานขึงใหม่คู่ขนานสะพานพระราม 9 อย่างเป็นทางการ ในเดือนกรกฎาคม 2567

เส้นทาง สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ไปยังไง

ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก

รถแท็กซี่/รถยนต์โดยสาร

  • ถ้าขึ้นทางพิเศษเฉลิมมหานครจากเส้นทางบางนา, แจ้งวัฒนะ สามารถลงทางด่วนที่ด่านบางโคล่

รถเมล์

  • รถเมล์สาย 102 ปากน้ำ – สาธุประดิษฐ์
  • รถเมล์สาย 3-52 เซ็นทรัลพระราม 3 – หัวลำโพง
  • รถเมล์สาย 67 วัดเสมียนนารี – สาธุประดิษฐ์

สรุปข้อมูลสะพานทศมราชัน

  • วันที่เริ่มการก่อสร้าง : วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)
  • วันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ : วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023)
  • บริษัทที่ทำการก่อสร้าง : บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
  • ราคาค่าก่อสร้าง : 6,636,192,131.80 บาท
  • แบบของสะพาน : สะพานขึงเสาคู่
  • ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง : 41 เมตร (135 ฟุต)
  • ความยาวของสะพาน : 780 เมตร (2,560 ฟุต)
  • รวมความยาวทั้งหมด : 2 กิโลเมตร (1.2 ไมล์)
  • จำนวนช่องทางจราจร : 8 ช่องทางจราจร
  • ความกว้างสะพาน : 42 เมตร (138 ฟุต)

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button