ประวัติ ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกฯ กล้าหัก เศรษฐา ลาออกทุกตำแหน่ง
แรงกระเพื่อมใหญ่ หลังโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.เศรษฐา 1/1) หนีไม่พ้นการลาออกจากตำแหน่งของ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากที่โดนถอดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเหลือแค่ รมว.ต่างประเทศตำแหน่งเดียว พร้อมทิ้งประโยคเด็ดในจดหมาย “สาเหตุของการปรับผมออกจากรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ผมเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับผมไม่มีผลงานแน่นอน”
ดร. ปานปรีย์ พหิทธานุกร แม่ทัพใหญ่แห่งการเจรจาต่างประเทศ
- เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2500
- เป็นบุตรของปรีชา และบุญทิวา พหิทธานุกร
- สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ (รุ่น 90)
- จบปริญญาตรีที่คณะคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย
- ปริญญาเอกด้านการบริหารจัดการภาครัฐจาก Claremont Graduate University
ปานปรีย์ สมรสกับ ปวีณา พหิทธานุกร (สกุลเดิม หงษ์ประภาส) หลานตาของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มีบุตรสาวคือ ปัทมรัตน์ พหิทธานุกร สมรสกับ พสุ ลิปตพัลลภ บุตรชายของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
เส้นทางการทำงานการเมือง
ปานปรีย์เริ่มทำงานเป็นข้าราชการที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
ในปี 2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศในรัฐบาลของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และในปี 2545 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา
ในปี 2546 เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี 2546–2548 ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC) และในปี 2547 เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรม มีบทบาทสำคัญในการวางแผน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่ออุตสาหกรรมใน Eastern Seaboard จนเป็นผลสำเร็จ
ในปี 2548 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย และได้รับมอบให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการค้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี และประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า
ในปี 2551 เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (อันดับ 1) รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรค (7 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 9 กันยายน พ.ศ. 2553)
ในปี 2556 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ปานปรีย์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกทาบทามให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็ไม่ได้ตอบรับเข้าทำหน้าที่ดังกล่าว ต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในปี 2566
ในปี 2567 หลังการปรับคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน เขาพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ให้ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากนั้นวันเดียวกันเขาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ผลงานเด่นของปานปรีย์ในคณะรัฐมนตรีเศรษฐา
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญช่วยเหลือตัวประกันไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับกุมตัวครั้งสงครามกับอิสราเอล โดยบินด่วนเยือนรัฐกาตาร์และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ระหว่างเช้าวันนี้ 31 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2566 เพื่อพบกับผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ หารือเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันจากสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์และพัฒนาการในภูมิภาค หารือถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน
ที่ผ่านมาปานปรีย์ได้โทรศัพท์หารือและชี้แจงไปหลายครั้งแล้วไม่ว่าจะผ่านสื่อหรือผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ รวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานว่าอยากให้มีการปล่อยตัวคนไทยโดยเร็ว ในส่วนของรัฐบาลไทยเราเปิดการเจรจาทุกช่องทางที่มีอยู่ที่จะสามารถประสานกับฮามาสได้เพื่อขอให้เขาทำการปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศแจ้งให้คนไทยรีบเดินทางกลับบ้านโดยเร็วที่สุด มีผู้มาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า เราได้ขอร้องเพราะอยากให้ทุกคนปลอดภัยมากที่สุด ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว เพราะไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ทั้งในอิสราเอลและกาซาจะรุนแรงมากขึ้นขนาดไหน จึงไม่อยากให้คนไทยได้รับผลกระทบ ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จึงอยากจะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าขอให้คนไทยกลับประเทศโดยเร็วที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง