วิธีดูเว็บไซต์ปลอม แอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ เช็กให้ชัวร์ ก่อนคลิก
สืบนครบาล แนะนำตรวจเช็กเว็บไซต์หน่วยงานรัฐปลอม แอบอ้าง-สวมรอย เพื่อกระทำการอื่น ดูให้ดี ก่อนคลิกลิงก์ เพราะเพียงอักษรเดียวที่ผิด อาจนำไปสู่ความเสียหายแก่ตัวคุณ
วันนี้ (26 เมษายน 2567) เพจเฟซบุ๊ก สืบนครบาล IDMB โพสต์เตือนภัย กรณีถูกมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ ส่งลิงก์ปลอม เพื่อกระทำการผิดกฎหมาย โดยได้แบ่งปันทริคการตรวจเช็กเว็บไซต์ปลอมเป็นหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งวิธีสังเกตเบื้องต้นเป็นดังนี้
อันดับแรกสามารถเช็กจาก URL หรือ ลิงก์ของเว็ ที่ขึ้นเป็นตัวสีฟ้า ให้เรากดเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ หากคนส่งมาอ้างเป็นเว็บหน่วยงานรัฐ แต่ลิงก์ลงท้ายด้วยชื่อโดเมนจำพวก .com, .xyz, .net และอย่างอื่น เบื้องต้นให้สันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นเว็บปลอม เพราะหน่วยงานรัฐของประเทศไทย ส่วนใหญ่ลิงก์จะลงท้ายด้วย .go.th และ .or.th อาทิเว็บไซต์ www.dsi.go.th, www.set.or.th
ในขณะเดียวกัน การตรวจสอบเว็บปลอมก็ไม่ควรละเลยการเช็กตัวสะกดชื่อเว็บ เพราะบางเว็บปลอมบางอาจจะใช้ชื่อที่คล้ายกับเว็บไซต์จริงของหน่วยงานนั้น ๆ แต่อาจจะดัดแปลงชื่อ หรือเขียนตกในบางตัวอักษร หรือใช้ตัวอักษรอื่นที่ดูผ่าน ๆ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจ ตัวอย่างเช่นเว็บดังต่อไปนี้
แจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์
- เว็บไซต์จริง : www.thaipoliceonline.go.th
- เว็บไซต์ปลอม : www.thaipoliceonlinc .com
ดีเอสไอ (DSI)
- เว็บไซต์จริง : www.dsi.go.th
- เว็บไซต์ปลอม : www.dsi-go-th .net
กรมสรรพากร
- เว็บไซต์จริง : www.rd.go.th
- เว็บไซต์ปลอม : afdw7 .com
สำหรับลิงก์ปลอดภัยอื่น ๆ นอกจาก .go.th แล้ว ก็ยังมีลิงก์นามสกุลอีกมากมายที่ต้องไปจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในไทย ซึ่งล้วนเป็นเว็บที่มีความปลอดภัยทั้งสิ้น ได้แก่
- .go.th : หน่วยงานภาครัฐ
- .or.th : องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิ พรรคการเมือง องค์กรอิสระ เป็นต้น
- .ac.th : สถานศึกษาที่รับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ
- .co.th : ธุรกิจในไทย
- .mi.th : หน่วยงานภายใต้กองทัพไทย
- .net.th : ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
- .in.th : องค์กรทุกประเภทตามกฎหมายไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ขั้นตอนเกณฑ์ทหาร 2567 เตรียมเอกสารสารสมัคร จับใบแดงโดนกี่ปี
- เปิดตัว Take It Down ถูกปล่อยรูปโป๊บนโซเชียล แจ้งลบได้ทันที
- เตือนภัยช่วงหยุดยาว ระวังข่าวปลอม เว็บปลอม หลอกเงิน ล้วงข้อมูลส่วนตัว