ข่าวข่าวอาชญากรรม

เตือนภัยช่วงหยุดยาว ระวังข่าวปลอม เว็บปลอม หลอกเงิน ล้วงข้อมูลส่วนตัว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยช่วงเทศกาลหยุดยาว อาจมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างข่าวปลอม หรือเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกเอาทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยห้วงเทศกาลหยุดยาว อาจมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างข่าวปลอมหรือจัดเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกเอาทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชน

เนื่องด้วยปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงโลกออนไลน์รวมถึง Application ต่างๆ ประกอบกับห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนใช้บริการผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น

โดยเหล่ามิจฉาชีพก็ได้อาศัยช่องว่างดังกล่าวสร้างกลอุบายในการหลอกลวงข้อมูลส่วนตัว หลอกให้โอนเงิน ดังกรณีในห้วงที่ผ่านจะพบว่ามีข่าวปลอมหลายเรื่องเกี่ยวกับการจัดโปรโมชั่นของขวัญสำหรับห้วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ อาทิ รัฐบาลโอน 1,000 บาท ให้บัตรคนจนเป็นของขวัญขวัญปีใหม่กดจากตู้ใช้ได้ทันที , กรณีปรับเบี้ยยังชีพแจกเพิ่ม 2,000 บาท เป็นต้น

โดยมิจฉาชีพสร้าง Link หลอกลวงให้คลิกเข้าไปเพื่อลวงเอาข้อมูลส่วนตัว หรือในบางครั้งก็ทำการติดต่อให้โอนเงินสำหรับค่าดำเนินการไปก่อน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายในวงกว้างให้กับประชาชนก็เป็นได้

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมาโดยตลอด จึงได้สั่งการให้ บช.น.,ภ1-9,บช.ก.,บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดำเนินการสืบสวน ปราบปรามจับกุมและขยายผล ผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งเร่งทำการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงพิษภัยบนโลกออนไลน์พร้อมแนวทางการป้องกันให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป

การกระทำลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกันอยู่แล้วและยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการโอนเงิน บันทึกการสนทนา รายการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงผ่าน Social Media Platform ต่างๆ ทาง E-Mail หรือทาง SMS ดังนี้

1. เมื่อได้รับข้อความหรือพบข่าวใดๆ ที่น่าสงสัย ให้ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชน ให้ชัดเจนเสียก่อน

2. ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลอกออนไลน์ หลีกเลี่ยงการกดเข้าลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ

3. หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้หรือมีผลตอบแทนสูง ง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน

4. หากรู้ตัวว่าถูกหลอก ให้เตรียมบันทึกการสนทนา สลิปการโอนเงิน เอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อไป นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button