ข่าวต่างประเทศ

เอไอทำถึง ฮือฮา “คลิปโมนาลิซ่า” ร้องเพลงแร็ป ชุบชีวิตภาพวาดเก่าแก่จนไวรัล

โลกโซเชียลฮือฮา ภาพวาดโมนาลิซ่า ร้องเพลงแร็ป หลัง Microsoft เปิดตัว VASA โมเดลทดลองใช้เอไอสร้างวิดีโอสมจริง ปล่อยคลิปเล่นเอาคนเป็นตะลึงทั้งแพลตฟอร์ม

กำลังเป็นไวรัลที่พูดถึงอย่างมากกับ ภาพวาดโมนาลิซ่า (Mona Lisa) ผลงานรังสรรค์จาก เลโอนาร์โด ดาวินชี ที่ล่าสุดรูปเขียนเก่าแก่ถูกนำมาดัดแปลงโดยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “เอไอ” ช่วยทำให้ดูเหมือนหญิงสาวในรูปเกิดมีชีวิตจริง ๆ ขึ้นมา

จากคลิปในบัญชีเอ็กซ์ @minchoi จะเห็นผลงานที่ศิลปินชาวอิตาลีวาดไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1507 ขยับริมฝีปาก หล่นท่วงทำนองซึ่งเป็นบทเพลงแร็ปซิงเกิลหนึ่ง ด้วยสีหน้าท่าทางเคลื่อนไหวสมจริงตามแบบฉบับนักร้องที่เป็นคนจริง ๆ

ทั้งนี้ ไวรัลภาพวาดโมนาลิซ่าร้องเพลงดังกล่าว เป็นโมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผลงานล่าสุดของ Microsoft ที่ทีมพัฒนาได้เผยแพร่โมเดล VASA-1 (Visual Affective Skills Animator) “เอไอสร้างวิดีโอสมจริง” ซึ่งริมฝีปากของตัวละครที่สร้างขึ้นมานั้น สามารถขยับพูดได้แบบเรียลไทม์

สรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับการทำงานคือเมื่อป้อนข้อมูลเข้าไป เอไอจะวิเคราะห์รูปภาพใบหน้าจากนั้นนำไปสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับเสียงประกอบ โดยซิงโครไนซ์การขยับปากให้ตรงกับเสียงพูด โดยเพลงแร็ปดังกล่าวที่ถูกนำมาใช้ในไวรัลภาพวาดนี้ ก็มาจากเสียงร้องของ แอนน์ แฮททาเวย์ (Anne Hathaway) ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง ซึ่งเคยแต่งและร้องเองแบบสด ๆ เพื่อเสียดสีบรรรดาปาปารัซซี่ที่มาแอบติดตามเธอ ในรายการคอมเมดี้ทอล์คโชว์ Conan O’Brien ของสหรัฐ เมื่อปี 2011

ขอบคุณคลิป : @TeamCoco

อ้างอิงรายงานของ Time Magazine นักวิจัยของไมโครซอฟท์ กล่าวถึงความเสี่ยงของเทคโนโลยีใหม่นี้ พวกเขาไม่มีแผนที่จะปล่อยตัวอย่างหรือผลิตภัณฑ์ออนไลน์ใด ๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมานี้ จะถูกนำไปใช้รับผิดชอบและสอดคล้องกับกฎระเบียบที่เหมาะสม

“มันไม่ได้มุ่งไปที่การสร้างเนื้อหาที่ใช้ในการหลอกลวงหรือต้มตุ๋น” หนึ่งในทีมนักวิจัย ระบุ “อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับเทคนิคการสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ผลกระทบที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือเจ้าสิ่งนี้ยังคงสามารถนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อสวมรอยเป็นมนุษย์ได้”

โมนาลิซ่า ร้องแรพ

“เราต่อต้านพฤติกรรมใด ๆ ในการสร้างเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิดหรือเป็นอันตรายต่อบุคคลจริง และสนใจที่จะนำเทคนิคของเราไปใช้เพื่อยกระดับการตรวจจับการปลอมแปลง”

“แม้ว่าจะยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิด แต่สิ่งสำคัญคือต้องรับรู้ถึงศักยภาพเชิงบวกที่สำคัญของเทคนิคของเรา” ทีมนักวิจัยยังกล่าวต่อ

“ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษา การปรับปรุงการเข้าถึงสำหรับบุคคลที่มีความท้าทายด้านการสื่อสาร การนำเสนอเพื่อนหรือการสนับสนุนด้านการรักษาให้กับผู้ที่ต้องการ นอกเหนือจากข้อดีอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยของเรา และการสำรวจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

“เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนา AI อย่างรับผิดชอบ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์” แถลงการณ์ล่าสุดของทีมวิจัยทิ้งท้าย.

ภาพวาดโมนาลิซาของดาวินชี ตัวอย่าง
ภาพ @PIXABAY/WikiImages

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button