ข่าว

ทำความรู้จัก ดาวหาง 12P/Pons-Brooks มองเห็นด้วยตาเปล่า 21 เม.ย.นี้ก่อน 2 ทุ่ม

21 เมษายน 2567 ดาวหาง 12P/Pons-Brooksจะโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเป็นครั้งสุดท้าย มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก่อน 20.00 น. พลาดครั้งนี้รออีกที 71 ปีข้างหน้า

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประกาศเชิญชวนคนไทยร่วมรับชม ดาวหาง 12P/Pons-Brooks โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ดวงตาเปล่า ทางทิศตะวันตก ในคืนวันที่ 21 เมษายน นี้ และจะสามารถพบปรากฎการณ์เช่นนี้ได้อีกในช่วงปี ค.ศ. 2095 หรือประมาณ 71 ปีข้างหน้า โพสต์ดังกล่าว ระบุว่า

“ดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่เราได้ยินชื่อกันตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงที่เหมาะสมแก่การสังเกตการณ์แล้ว

21 เมษายน ค.ศ. 2024 ดาวหาง 12P/Pons-Brooks จะโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดที่ระยะห่างประมาณ 116 ล้านกิโลเมตร มีโอกาสที่ดาวหางจะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่ดาวหางจะค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ไปเรื่อย ๆ ทำให้มีความสว่างลดลงจนไม่สามารถสังเกตได้

ขณะนี้ดาวหาง 12P/Pons-Brooks มีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ระหว่างพื้นที่ของกลุ่มดาววัว (Taurus) และกลุ่มดาวแกะ (Aries) สามารถสังเกตการณ์ได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกทันทีที่ท้องฟ้ามืดสนิท โดยดาวหางจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าจนถึงเวลาไม่เกิน 20:00 น. ตามเวลาประเทศไทย ก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไปในที่สุด

เช็คตำแหน่งปรากฏของดาวหางแบบ real time ได้ที่ theskylive

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Comet Observers Database ชี้ว่า ขณะนี้ดาวหาง 12P/Pons-Brooks มีค่าแมกนิจูดปรากฏประมาณ 4.3 หมายความว่าผู้สังเกตสามารถมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่าหากท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากมลภาวะทางแสง

ทั้งนี้ หากสังเกตดาวหางด้วยตาเปล่า จะมองเห็นเหมือนเป็นดาวอีกดวงหนึ่งบนท้องฟ้าที่ดูแล้วเป็นฝ้า ๆ ไม่คมชัดเหมือนดาวดวงอื่น แนะนำใช้กล้องสองตาช่วยในการสังเกตการณ์ จะสังเกตเห็นหางของดาวหางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับภาพดาวหาง 12P/Pons-Brooks ขนาดใหญ่ที่ปรากฏให้เห็นในข่าวต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นภาพถ่าย หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะไม่เห็นเป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ดี John Bortle นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวอเมริกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเกตการณ์ดาวหางให้ข้อมูลว่า ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ที่ดาวหางยังคงอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ แต่จู่ ๆ ดาวหางก็มีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (outburst) Bortle จึงเชื่อว่าการเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในวันที่ 21 เมษายนนี้ ดาวหางอาจจะไม่เกิดการ outburst จนมีความสุกสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีก แต่อาจจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดังนั้น ในช่วงนี้ อาจเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของการสังเกตการณ์ดาวหาง 12P/Pons-Brooks ซึ่งหลังจากที่ดาวหางโคจรเฉียดดวงอาทิตย์ผ่านไปแล้ว ดาวหางก็จะโคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์และโลกออกไปเรื่อย ๆ ทำให้มีความสว่างน้อยลงจนไม่สามารถสังเกตได้ ซึ่ง 12P/Pons-Brooks จะโคจรเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในปี ค.ศ. 2095 หรืออีกประมาณ 71 ปีนั่นเอง”

ดาวหาง 12P Pons-Brooks
ภาพจาก : FB NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

การค้นพบ ดาวหาง 12P/Pons-Brooks

ดาวหางปองส์-บรูคส์ (12P/Pons-Brooks) ถูกค้นพบอย่างแน่ชัดที่ หอดูดาวมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2355 โดย ฌ็อง-หลุยส์ ปงส์ และการปรากฏตัวครั้งต่อไปในปีพ.ศ. 2426 ถูกพบโดย วิลเลียม โรเบิร์ต บรูคส์

ที่มาของชื่อ 12P/Pons-Brooks

ดาวหาง 12P/Pons-Brooks เป็นดาวหางประเภทเดียวกับดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) จัดอยู่ในประเภท “ดาวหางคาบสั้น” ได้แรงบันดาลในการคิดชื่อมาจากชื่อของผู้ที่ค้นพบครั้งแรกและครั้งที่สอง คือ

  • ค้นพบครั้งแรกในปี 1812 โดยนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Jean-Louis Pons
  • ค้นพบครั้งที่สองในปี 1883 โดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ-อเมริกัน William Robert Brooks

ขนาดของ ดาวหาง 12P/Pons-Brooks

คาดว่า 12P/Pons-Brooks มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม ใครที่อยากเห็น ดาวหาง 12P/Pons-Brooks สักครั้งในชีวิต ควรจะเตรียมอุปกรณ์สำหรับดูดาวเอาไว้ด้วย อาทิ กล้องส่องทางไกล, กล้องโทรทรรศน์ และแผนภูมิท้องฟ้า รวมไปถึงควรหาพื้นที่โล่งกว้าง มีแสงน้อย จะช่วยให้เห็นดาวหางได้ชัดเจนขึ้น หรืออาจจะดูผ่านทางออนไลน์แบบเรียลไทม์ได้ที่เว็บไซต์ theskylive

Pons_brooks
ภาพจาก : space.com

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, wikipedia,

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button