เปิดคลังศัพท์ “ไม่ได้มุสาวาปึ้ง” วลีเด็ดจาก TikTok คืออะไร ใช้ยังไงให้ดูจึ้ง
เปิดที่มาวลีฮิต “ไม่ได้มุสาวาปึ้ง” ระบาดเต็มติ๊กต๊อกตอนนี้ ต้นกำเนิดมาจากไหน มีความหมายว่าอะไร นำไปใช้พูดได้หรือไม่
กำเนิดศัพท์ใหม่สุดจึ้งสุดไวรัล สำหรับวลี ไม่ได้มุสาวาปึ้ง ที่ตอนนี้เป็นกระแสอยู่ในโลกออนไลน์ ที่เหล่าชาวเน็ตต่างอัดคลิปลง TikTok พากันปึ้งกันทั้งวันทั้งคืน จนติดอยู่ในโสตประสาท เอาออกจากหัวไม่ได้สักที เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงสงสัยว่าที่มาวลีสุดติดหูนี้มาจากไหนกันแน่ วันนี้เราจะมาสรุปกันให้เห็นภาพชัด ๆ เลย
วลี ไม่ได้มุสาวาปึ้ง เกิดจากที่ผู้ใช้บัญชี TikTok nongmusatay ได้โพสต์คลิปที่เธอกำลังแต่งหน้า ทาลิป พร้อมเปิดเพลง กาลครั้งหนึ่ง (ต้นฉบับ JUNENOM) ฉบับ Cover ของ ปราง ปรางทิพย์ ที่นำมาทำดนตรีใหม่สไตล์ไทย ในขณะที่แต่งหน้า อยู่ดี ๆ ก็ได้ร้องตามเพลงดังกล่าวว่า “ไม่ได้มุสาวาปึ้ง คำสัญปึ้ง เพียงวิบปึ้ง ซีโต๋ว่าต๋าว่าอยู่แห่งใด ซีโต๋ว่าต๊าซ จากคำลือเล่าขานมาแต่โบร่ำโบปึ้ง” โดยเน้นกระแทกเสียงในคำว่า ปึ้ง
@nongmusatay ไม่ได้มุสาวาปึ้ง คำสัญปึ้ง เพียงวิบปึ้ง!! #น้องหมูสะเต๊ะ
ด้านท่อนต้นฉบับนั้น ได้ร้องไว้ว่า “มิได้มุสาวาทาที่ลั่นวาจาว่ารักออกไป คำสัญญาที่เอ่ยออกมานั่นแล่นจากใจ เพียงพริบตาที่ขานนามมาเจ้าอยู่หนใด จะไกลลับฟ้าหรืออยู่แห่งไหนข้าจะตามหามิว่าอย่างไร จากคำลือเล่าขานมาแต่โบร่ำโบราณ…” ทำให้คลิปดังกล่าวเกิดเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว มียอดเข้าชมคลิปดังกล่าวแล้วกว่า 12.4 ล้านครั้ง พร้อมมีคลิปที่นำแผ่นเสียงนี้ไปใช้อีกมากมาย
ความหมายของคำว่า มุสา ในเพลงนั้น มาจากภาษาบาลี หมายถึง ไม่จริง, โกหก ส่วนคำว่า ปึ้ง เป็นการนำ 2 ศัพท์สแลงที่นิยมใช้กันอย่างคำว่า ปัง และคำว่า จึ้ง มาผสมรวมกันกลายเป็นว่า ปึ้ง ซึ่งมีความหมายเดียวกับ 2 คำก่อนหน้า นั่นคือ สวย เริ่ด ดี เก๋ สามารถนำมาต่อท้ายประโยคเพื่อเพิ่มความเก๋ในการพูดได้ เช่น วันนี้เธอแต่งตัวปึ้งเว่อ
ทั้งนี้ เพลงกาลครั้งหนึ่ง เวอร์ชัน Cover ของ ปราง ปรางทิพย์ มักถูกนิยมนำมาใช้ประกอบวิดีโอใน TikTok ในคลิปที่โชว์ความสวย ความเริ่ด ความปัง เมื่อถึงท่อน “ไม่ได้มุสาวาทา” เมื่อถึงคำว่า ทา จะมีการใช้เอฟเฟควิดีโอในการซูมเข้าเพื่อทำให้เห็นถึงความสวยเชิ่ดนั่นเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง