บุญครั้งสุดท้าย พยาบาลสาวเสียชีวิต บริจาคอวัยวะ ช่วยต่อลมหายใจผู้ป่วย
ร่วมแสดงความอาลัยและเชิดชูเกียรติแด่ พว.นลินทิพย์ แซ่ลี้ พยาบาลสาวเหยื่อเมาแล้วขับเสียชีวิต บริจาคอวัยวะช่วย 5 ชีวิต แม้ตัวจากไปแต่จิตวิญญาณแห่งความดีจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์
เมื่อวันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เฟชบุ๊ก โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม. ได้โพสต์แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ พว.นลินทิพย์ แซ่ลี้ อายุ 35 ปี พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาลห้องตรวจโรคเฉพาะทาง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ หลังเจ้าตัวประสบอุบัติเหตุถูกรถกระบะเมาแล้วขับชนจักรยานยนต์ จนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยผู้ตายได้ทิ้งมรดกชิ้นสุดท้ายไว้ คือ การบริจาคอวัยวะร่างกายให้กับสภากาชาดไทย ตามที่เคยสั่งเสียไว้ ประกอบด้วย หัวใจ, ไต 2 ข้าง, ม้าม และหลอดเลือดดำอุ้งเชิงกราน ต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยได้อีก 5 ชีวิต
ตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ พว.นลินทิพย์ แซ่ลี้ ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ด้วยความเสียสละและความรับผิดชอบ จนได้รับคำชื่นชมจากผู้รับบริการมาโดยตลอด
ในวันที่ 15 เมษายน 2567 คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ บุคลากรโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ร่วมไว้อาลัยและเชิดชูเกียรติ ขอกุศลแห่งบุญในครั้งนี้ ส่งดวงวิญญาณสู่สัมปรายภพ พวกเราระลึกถึงความดีงามและความเสียสละตลอดไป
การบริจาคอวัยวะต่างกับบริจาคร่างกายอย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์รับบริจากอวัยวะ สภากาชาดไทย ระบุว่า การบริจาคอวัยวะ คือ การมอบอวัยวะ เพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่อวัยวะนั้นๆ เสื่อมสภาพ ผู้บริจาคต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น (ยกเว้น ไต 1 ข้าง, ตับ, ไขกระดูก เป็นต้น ที่สามารถบริจาคได้ตอนยังมีชีวิตอยู่)
หลังผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะไปให้ผู้ป่วยที่ได้รับบริจาค แพทย์จะตกแต่งร่างกายของผู้บริจาคให้เรียบร้อย แล้วมอบให้ญาติไปประกอบพิธีทางศาสนา
ทั้งนี้ผู้บริจาคจะต้องรับแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจากทั่วประเทศ โดยติดต่อได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย, เหล่ากาชาดจังหวัดทุกแห่ง, โรงพยาบาลประจำจังหวัด
คุณสมบัติผู้บริจาคอวัยวะ
- อายุไม่เกิน 65 ปี
- เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย
- ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
- ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
- อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี
- ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
- ควรแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะให้บุคคลในครอบครัวหรือญาติรับทราบด้วย
หมายเหตุ: อวัยวะที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ไต 2 ข้าง, ปอด 2 ข้าง, หัวใจ, ตับ, ตับอ่อน นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูก, เส้นเอ็น, กระจกตา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โจรมารยาทดี ยกมือไหว้ ก่อนขโมยเงินบริจาค ทราบตัวเป็นเยาวชน
- พลังโซเชียลวอนช่วยเด็กยากไร้ อยู่กับพ่อติดยา-ไร้ข้าวกิน ไม่ขอรับบริจาค
- ไข่ไก่ ปรับขึ้นราคา แผงละ 6 บาท ฟองละ 20 สตางค์ มีผลวันนี้ 17 เม.ย. 67
อ้างอิง : โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม.