การเงินเศรษฐกิจ

สรุปแถลงนายก เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจกเมื่อไหร่ ใครได้บ้าง เอาเงินจากไหนแจก

อัปเดตล่าสุด นายกแถลง โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช็กรายละเอียดพร้อมกันได้ที่นี่

วันนี้ (10 เม.ย. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ได้ออกแถลงการ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับแนวทางการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ท ตามนโยบายการหาเสียงที่ให้ไว้ เพื่อเปิดเผยความชัดเจน และไทม์ไลน์การแจกเงิน 10,000 บาท แก่พี่น้องประชาชนชาวไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในประเทศไทย

Advertisements

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีความยินดีที่จะประกาศให้ทราบว่า นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ท ซึ่งเป็นนโยบายโดยตรงของรัฐบาล เพื่อยกเศรษฐกิจทั้งระดับ ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยอยู่ในกรอบระเบียบวินัยการเงินและการคลังอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3 และจะส่งเงินตรงให้ประชาชนในไตรมาส 4 ปีนี้ นโยบายนี้เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ เกิดการผลิตสินค้าและการจ้างงานที่มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็จะได้ผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบของภาษี และการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เตรียมความพร้อมสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่

สำหรับโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร ให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ และสร้างเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ทั้งนี้จะมีการให้สิทธิแก่ประชาชน 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท และให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุด

แหล่งที่มาเงินดิจิทัล 10,000 บาท

วงเงิน 5 แสนล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด ในปี 2567-2568 ควบคู่กันไป โดยมีแหล่งที่มาของเงิน 3 แหล่ง ได้แก่

Advertisements
  • มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 : 152,700 ล้านบาท
  • มาจากหน่วยงานของรัฐ : 172,300 ล้านบาท
  • มาจากการบริหารจัดการงบประมาณ 2567 : 175,000 ล้านบาท

การดำเนินการเรื่องแหล่งเงิน เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยนับวันที่เริ่มโครงการในช่วงปลายปี จะมีเงิน 5 แสนล้านบาท รออยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้มาตรการอื่นแทนเม็ดเงินจริง

สาเหตุและเงื่อนไขโครงการ เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท

เศรษฐกิจไทย 2567 ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ มีแนวโน้มลดลง มีปัญหาเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า รัฐบาลจึงเพิ่มเงินหมุนเวียน โดยมีขอบเขตและการระมัดระวัง เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวม ซึ่งมีรายละเอียดด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1. กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชน 50 ล้านคน ผู้มีอายุเกิน 16 ปี มีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท
  2. เงื่อนไขการใช้จ่าย
    – ประชาชนใช้จ่ายระดับพื้นที่ระดับอำเภอ ร้านค้าขนาดเล็ก
    – ร้านค้าต่อร้านค้าไม่มีข้อกำหนด
  3. ห้ามใช้จ่ายสำหรับอบายมุข
  4. สามารถใช้จ่ายได้ผ่านธนาคารอื่น ๆ และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
  5. ร้านค้าที่ถอนเงินสดจากโครงการ ต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ส่วนการการถอนเงิน ร้านค้าจะไม่สามารถถอนได้ทันทีหลังจากการใช้จ่าย ต้องรอรอบที่ 2 เพื่อลดความเสี่ยงการทุจริตในโครงการ
  6. เริ่มเข้าร่วมโครงการได้ในไตรมาสที่ 3 และใช้จ่ายได้ในไตรมาสที่ 4
  7. เพื่อป้องกันการทุจริต มีการแต่งตั้งหน่วยงานตรวจสอบอย่างเป็นทางการ

สำหรับความรู้สึกของนายกรัฐมนตรีต่อโครงการนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน เผยว่ามีความผิดหวังในเรื่องของการดีเลย์ แต่ในฐานะรัฐบาลก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชน และมีการจัดตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ต้องใช้ความละเอียดโปร่งใส เพื่อให้ผลประโยชน์ตกที่ประชาชน

รายละเอียดโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ในด้านเงินที่เตรียมจะเข้ากระเป๋าประชาชน 10,000 บาท รัฐบาลยืนยันจะเข้าล็อตเดียว ไม่มีการทยอยจ่าย ส่วนการถอนเงินสดของร้านค้าที่ต้องรอการใช้จ่ายรอบ 2 ต้องวางกลไกไว้เพื่อป้องกันการทุจริต เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยร้านค้าต้องนำเงินที่ประชาชนมาใช้จ่าย ไปซื้อต่อในร้านอื่น เพื่อให้เกิดเป็นการใช้จ่าย 2 รอบ ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย

สำหรับแนวทางการยกระดับ GDP คาดว่าจะเห็นผลอย่างชัดเจนในปี 2568 โดยทางรัฐบาลยืนยันโครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ โครงการที่ต้องการสร้างความหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลวางแผนไว้ ส่วนรายละเอียดเรื่องร้านค้าขนาดเล็ก ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่

ด้านรายละเอียดเรื่องมาตรา 28 วินัยการเงินการคลัง กำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงินคืน ธกส. ต้องดูควบคู่ความเหมาะสมของงบประมาณ ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ยังมีนโยบายเติมเงินเข้าไป เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้เริ่มแล้วในปี 2567 และจะทยอยเพิ่มขึ้นในปีถัด ๆ ไป ซึ่งเป็นเงินคนละส่วนกับโครงการเงินดิจิทัล และยังมีเงินเหลือสำหรับการทำงานดังกล่าวแน่นอน.

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button