บุกทลาย โรงงานยาแก้ไอปลอม ‘ดาทิสซิน’ ยึดของกลาง 5 หมื่นขวด
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมมือ อย. บุกกวาดล้างโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอม ในจังหวัดนนทบุรี ยึดของกลางยาแก้ไอชนิดน้ำยี่ห้อดาทิสซิน จำนวน 5 หมื่นขวด เครื่องจักร 5 เครื่อง รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ เภสัชกร วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เภสัชกรหญิง อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) นำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 30 นาย เข้าตรวจค้นโกดังไม่มีเลขที่ ณ ภายในหมู่บ้านเพชรวัฒนะ ถนนเลียบคลองประปา ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี หลังได้รับแจ้งว่าอาจเป็นสถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอม
สถานที่ดังกล่าวเป็นโกดังขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว 1 ไร่ ภายในโกดังมีการดัดแปลงใช้เป็นสถานที่ผลิตยา มีเครื่องจักรตั้งวางเรียงรายเต็มโกดัง โดยมีคนงานชาวต่างด้าวและคนไทยรวมกว่า 30 คน ทำหน้าที่คุมเครื่องจักรการผลิต นับตั้งแต่ขั้นตอนการบรรจุน้ำยาแก้ไอลงขวด การปิดฝาบรรจุภัณฑ์ ติดฉลากข้างขวด และหน้าที่แพ็กลงกล่อง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จึงเข้าควบคุมตัวคนงานทั้งหมด เพื่อสืบสาวหาผู้ที่เกี่ยวข้อง
ด้าน ‘พล.ต.ต.วิทยา’ ได้กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าของผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ซื้อเพื่อนำไปผสมกับตัวยาอื่น ๆ อันทำให้เกิดอาการมึนเมา โดย ปคบ. ได้มีการตามรอยสืบสวนจนได้ทราบแหล่งผลิต-เก็บสินค้ารวม 4 แห่ง ซึ่ง 3 ใน 4 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลบ่อเงิน ตำบลหน้าไม้ และ ตำบลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เป็นแหล่งผลิตน้ำยาแก้ไอ และโกดังที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการติดตามรถขนสลาก และขวด รวมถึงตัวยาที่ผสมเสร็จแล้ว จนมาพบแหล่งที่บรรจุแห่งนี้
ในขณะเข้าตรวจค้น เจ้าหน้าที่พบของกลางเป็นยาแก้ไอชนิดน้ำยี่ห้อ DATISSIN (ดาทิสซิน) จำนวนกว่า 50,000 ขวด เครื่องจักรในการผลิตจำนวน 5 เครื่อง มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งในการตรวจค้นครั้งนี้พบว่ามีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด แต่ขณะนี้ก็ยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นยังไม่พบต่างชาติเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการตั้งโรงงานแห่งนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการขยายผลหาผู้ที่เป็นเจ้าของ
‘ภญ.อรัญญา’ กล่าวว่า ทาง บก.ปคบ. ได้สืบสวนขยายผลจนมาพบแหล่งผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการนำยาน้ำมาแบ่งบรรจุ และติดสติกเกอร์สลากที่นี่ เมื่อมาดูในส่วนของสลากพบว่าผลิตภัณฑ์ล็อตนี้ได้มีการนำสลากที่เป็นของลอตเก่า ซึ่งมีการรายงานการผลิตมายัง อย. ประมาณ 3 หมื่นขวด และได้ขายไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีพ.ศ. 2566 ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ตัวนี้ทางบริษัทได้มีการเปลี่ยนสลากไปแล้วอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงฝากเตือนประชาชนว่าการที่จะสั่งซื้อยา ผ่านทางออนไลน์ เพราะท่านอาจจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาปลอม ไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรค และยังอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคอีกด้วย
อย่างไรก็ดี หลังจากนี้จะมีการนำตัวอย่างยาไปตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า มีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่พบตัวยาสำคัญปะปนอยู่บ้าง แต่กลับไม่ตรงตามสูตรที่ระบุไว้ในฉลาก จึงนับว่าเป็นการทำความผิดโทษฐานผลิตยาปลอม ในส่วนของสถานที่ก็ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน ทางเจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการสืบสวนขยายผล เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อย. บุกทลาย โกดังเครื่องสำอางเถื่อน ย่านบางนา ยึดผลิตภัณฑ์กว่า 19 รายการ
- อย. เตือน 6 ยี่ห้อ ยาสีฟัน มาส์กหน้า เถื่อนไม่มีฉลากไทย ห้ามซื้อ-ใช้
- ห้ามกิน 12 ‘ยี่ห้อนมผง’ ไม่มีอย. นำเข้าจากเวียดนาม ขายดีในออนไลน์