‘สนธิญา’ บุกยื่น กกต. สั่ง 44 สส.ก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
สนธิญา บุกยื่น กกต. สั่ง 44 สส.ก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าจะวินิจฉัยเสร็จ ยกปม บิ๊กตู่ เทียบว่าตอนนั้นก็หยุดทำหน้าที่เหมือนกัน
นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล ยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด กรณีกกต.ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล กรณีใช้การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง
โดยนายสนธิญา กล่าวว่า วันนี้ตนมาเรียกร้องให้กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลหยุดการปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับกรณี สส.พรรคก้าวไกล ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พร้อมพ่วงขอให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
โดยสส. 44 คน ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ก็มีส่วนร่วมส่งคำร้องกรณีพล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน ซึ่งศาลก็มีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ ยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ดังนั้น เมื่อกกต.จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล ก็ขอให้เสนอเรื่องให้พรรคก้าวไกล ยุติการดำเนินการใดๆ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยถึงที่สุด
“ที่มายื่น เพราะผมอยากให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น ในเมื่อคุณยื่นเรื่องกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระ 8 ปีหรือไม่ ท่านก็บอกศาลว่าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ วันนี้เมื่อกกต.ส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยการกระทำของพรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง ยุบพรรค รวมถึงตัดสิทธิทางการเมือง ก็สมควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งพรรคก้าวไกลหยุดการกระทำการใดๆ ไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด” นายสนธิญา กล่าว
เมื่อถามว่ามีกระแสจากพรรคก้าวไกล ระบุว่าการยุบพรรค ใช้กระบวนการรวดเร็วกว่าการพิจารณายุบภูมิใจไทย กรณีรับเงินบริจาค นายสนธิญา กล่าวว่า กรณียุบพรรคก้าวไกล ที่กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เห็นว่าศาลเคยมีคำวินิจฉัยกรณีการชุมนุมเรียกร้อง 10 ข้อของกลุ่มนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2564 โดยศาลวินิจฉัยสั่งให้ยุติการกระทำใดๆ อันเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ศาลวินิจฉัย
และกรณีนี้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ส่วนหนึ่งได้อ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ด้วย อีกทั้งพรรคก้าวไกลไม่ได้แสดงเจตนาในขณะนี้เลยว่าพร้อมที่จะไม่กระทำการใดๆ อันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ซึ่งมีผลผูกพันทุกองค์กร
ตนจึงเชื่อมั่นว่าหากพรรคก้าวไกล แสดงพฤติกรรมหรือท่าทียอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และพร้อมที่จะแก้ไขลดเพดานการแก้ไขมาตรา 112 เชื่อว่าจะไม่มีการยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งข้อเท็จจริงในประเด็นนี้มีความชัดเจนในทุกอณูของคำวินิจฉัย โดยอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง และรวมถึงหลักฐานการกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นของพรรคก้าวไกล
ส่วนที่นักวิชาการมองว่าการยุบพรรคก้าวไกลก็จะไม่จบ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวทำงานการเมืองอย่างต่อเนื่อง นายสนธิญา กล่าวว่า การที่พรรคก้าวไกลถูกยุบเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย รวมถึง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่มีใครกลั่นแกล้ง
หากพรรคก้าวไกลไม่ดำเนินการ ก็จะไม่มีผู้มาร้องและผู้ที่มาร้องก็มีหลักฐานและเหตุผลประกอบให้กกต.พิจารณา อีกทั้งการร้องยุบพรรคไม่ได้ร้องเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ให้เข้าใจว่ากระบวนการเหล่านั้นเป็นไปตามกฎหมาย ตราบใดที่พรรคก้าวไกลยังดำเนินการขัดกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกยุบหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปเรื่อยๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘เรืองไกร’ ยื่นจดหมายจี้ ‘ป.ป.ช. ส่งเรื่อง วินิจฉัย 44 สส.ก้าวไกล
- เปิดรายชื่อ สส. พรรคก้าวไกล 44 คน ลงชื่อแก้กฎหมาย ม.112 ปี 64
- กกต. ปัดมีใบสั่ง หลังยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล ยันทำตามกฎ