เฉลยแล้ว กาแฟพันธุ์ไทย เปิดขายที่ลาว ตัดคำว่า ‘ไทย’ ออก เหตุผลดีมาก
กาแฟพันธุ์ไทย ดังไกลถึงลาว แต่ทำไมพอดูชื่อดี ๆ กลับไม่พบคำว่า “ไทย” อยู่บนโลโก้ร้าน จนทำชาวเน็ตแห่เข้าใจผิด คิดว่าห้ามนำเข้ากาแฟ หรือมีประเด็นการกีดกันสินค้าจากไทย ก่อนเผยสาเหตุชวนซึ้ง เหตุผลดีจนต้องยกนิ้วให้
คาเฟอีนเลิฟเวอร์ห้ามพลาด เตรียมเบิ่งรถไฟความเร็วสูงไปจิบกาแฟพันธุ์ไทยในแดนลาว แต่ช้าก่อนท่านจอมยุทธ์ เหตุไฉน “ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” (Punthai Coffee) ที่เพิ่งมีข่าวประกาศเปิดสาขาแรกใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อไม่นานนี้ ถึงได้ถูกตัดคำว่า “ไทย” ออกจากโลโก้ร้าน? จนกลายเป็นชื่อใหม่ว่า “ปันคาเฟ่” (PUN CAFE)
ด้านคนไทยไม่รีรอ ต่างคาดเดาสืบเสาะสาเหตุ แรกเดิมทีคิดว่าดราม่าเรื่องเชื้อชาติ และการกีดกันสินค้าบางอย่างจากไทยหรือไม่ กระทั่งบางความคิดเห็นแสดงทัศนคติด้านลบต่อคนลาว ก่อนมีชาวเน็ตแปะภาพที่มา จนได้ข้อสรุปเป็นที่ประจักษ์ สาเหตุเพราะ ปันคาเฟ่ นั้นเปิดกว้าง ไม่ยึดติดวัตถุดิบเพียงในไทย เป็นการสื่อถึงการแบ่งสรรปันส่วน สร้างอาชีพให้คนท้องถิ่น ทลายเส้นแบ่งระว่างเชื้อชาติ พร้อมร่วมใจกันพัฒนากาแฟให้ดังไกลทั่วโลก
สำหรับที่มาของชื่อ “ปันคาเฟ่” ถูกเผยในบทสัมภาษณ์ของ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เรื่องการเปิด ปันคาเฟ่ ที่ สปป. ลาว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ผ่านสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง (คลิก) ที่ระบุรายละเอียดไว้ว่า
“ส่วนชื่อ “ปันคาเฟ่” มาจากแนวคิดการเปิดกว้างทุกด้าน ทั้งการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของลาว ไม่จำกัดเฉพาะของไทย การแบ่งปันสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่น เช่น บาริสต้า พนักงานในร้าน ซึ่งเป็นคนสัญชาติลาว 100% ใช้ชุดแต่งกายผ้าซิ่นทอมือ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในชุมชนชาวลาวที่สืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ ยังต้องการให้ปันคาเฟ่มีโอกาสทางธุรกิจขยายไปได้ทุกที่ ไม่มีข้อจำกัดจากชื่อของแบรนด์ โดยสาขาแรกเป็นโมเดล Kiosk พื้นที่ 45 ตารางเมตร จำนวน 12 ที่นั่ง”
อย่างไรก็ตาม หากใครเห็นชื่อร้าน กาแฟพันธุ์ไทย ว่า ปันคาเฟ่ ครั้งแรก ก็ต้องนึกสงสัยเป็นธรรมดา ว่าทำไมกาแฟบ้านเราสยามเมืองยิ้ม ถึงได้เปลี่ยนชื่อรีแบรนด์อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปจุดดราม่า เพราะไม่ว่าอย่างไร ต่อให้ชื่อจะถูกเปลี่ยนในประเทศไหน ๆ ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) รูปช้างไทย ก็จะยังเด่นสง่า เจิดจรัสจนเป็นที่กล่าวขานต่อผู้พบเห็น และได้มาสัมผัสลิ้มลองความอร่อยเข้มขนของกาแฟไทย ให้ได้ติดใจกันถ้วนหน้านั่นเอง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- Google Doodle เฉลิมฉลอง วัน “กาแฟแฟลตไวท์” ไขความต่างกับ “ลาเต้” ยังไง
- หนุ่มสงสัย “กาแฟ 4 ยี่ห้อ” ผลิตที่เดียวกัน แต่รสชาติต่างกัน ที่แท้สาเหตุเป็นแบบนี้
- ร้องสำนักพุทธฯ ตรวจสอบ ‘ถ้วยกาแฟเศียรพระพุทธเจ้า’ ชี้ไม่ใช่การสักการะ
อ้างอิง : เว็บไซต์ พันทิป, ผู้จัดการ