วิธีป้องกันโดนรองเท้าใหม่กัด จุดยุทธศาสตร์ที่มักโดนบ่อย ๆ จนเป็นตุ่มน้ำ เตรียมสวมใส่รองเท้าคู่ใหม่แสนรักแบบไร้กังวัล รู้แล้วไม่โดนรองเท้ากัดอีกต่อไป
รองเท้ากัด ปัญหาโลกแตกของมนุษย์ทุกคนต้องประสบพบเจอ โดยเฉพาะเวลาซื้อรองเท้าคู่ใหม่ที่เจ๋งแจ๋วโดนใจ ทำให้เราอยากรีบสวมใส่เพื่ออวดสายตาชาวโลก แต่แล้วก็ต้องได้แผลเนื่องจากรองเท้ากัดทุกครั้งไป ต้องทนเดินด้วยอาการทนเจ็บทนแสบเพื่อรองเท้าคู่โปรดของเรา แต่หากไม่อยากเจ็บตัวจากการโดนรองเท้ากัดแล้วละก็ วันนี้เรามีวิธีป้องกันรองเท้าใหม่กัดมาฝากทุก ๆ คนกัน รับรองว่าทุกคนทำได้แบบชิว ๆ จบปัญหากวนใจ พร้อมก้าวย่างไปกับรองเท้าที่เรารักได้เลย
สาเหตุที่เกิดรองเท้ากัด
อาการรองเท้ากัดส้นเท้า เกิดจากหลายปัจจัย หลักๆคือ วัสดุของรองเท้าแข็ง เช่น ทำจากหนังแก้ว หนังดิบ แล้วไม่สวมถุงเท้าหรือใส่ถุงเท้าที่มีรอยย่น ทำให้เกิดการเสียดสี, ฝ่าเท้ามีความร้อนหรือความชื้น, เลือกไซส์รองเท้าไม่พอดีกับขนาดรองเท้า ใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป เมื่อเดินอาจทำให้เกิดการเสียดสีโดยตรงต่อเท้า จนทำให้เกิดแผลถลอกหรือแผลลึก บางคนสีจนเป็นตุ่มน้ำ ยังกัดฟันใส่จนตุ่มแตกลามเป็นแผลกว้างยิ่งขึ้น
จุดยอดนิยมที่โดนรองเท้ากัด
สำหรับบริเวณของเท้าที่มักโดนรองเท้ากัดอยู่เป็นประจำนั้น แบ่งออกเป็น 4 จุดหลัก ได้แก่
- บริเวณนิ้วเท้า
- บริเวณโหนกเท้า
- บริเวณนิ้วก้อยเท้า
- บริเวณหลังส้นเท้า
จะสังเกตได้ว่า เวลาที่เราสวมใส่รองเท้าใหม่แล้วรองเท้ากัด มักจะเกิดแผลถลอกหรือแผลรองเท้ากัดบริเวณดังกล่าวอยู่เสมอ
วิธีแก้รองเท้ากัด
วิธีการแก้ไขปัญหารองเท้ากัดนั้น เบื้องต้นหลายคนมักแก้ปัญหาด้วยการติดพลาสเตอร์บริเวณหลังส้นเท้า หรือบริเวณที่เกิดการแผลจากรองเท้ากัดบ่อย ๆ แต่บางครั้งอาจไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เราจึงมีวิธีอื่น ๆ มาแนะนำเพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกในการถนอมเท้าของเรา เพื่อสวมใส่รองเท้าคู่ใหม่ คู่โปรดได้แบบปลอดภัยไร้แผลที่เท้า สำหรับวิธีการแก้รองเท้ากัดนั้น มีดังนี้
1. ก้อนน้ำแข็ง
สำหรับวิธีแรก หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกงงงวย ว่าก้อนน้ำแข็งจะช่วยแก้ไขปัญหารองเท้ากัดได้อย่างไร ก้อนน้ำแข็งนั้นสามารถบรรเทาอาการปวดและบวมของแผลจากการถูกรองเท้ากัดได้ โดยการนำไปทาบริเวณที่เกิดแผล นอกจากนั้นน้ำแข็งยังช่วยลดรอยแผลเป็นได้อีกด้วย
2. ยาสีฟัน
ยาสีฟันนั้นสามารถบรรเทาอาการตุ่มพองจากการถูกรองเท้ากัดได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวนักวิ่งลมกรดมาราธอนมักนำไปใช้เพื่อลดอาการปวดจากตุ่มพองอันเนื่องจากการเสียดสีของเท้านั่นเอง
3. ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ มีสรรพคุณในการรักษาแผลพุพอง บรรเทาอาการอักเสบ ลดอาการคันและปวดได้ ฉะนั้นแล้วจึงสามารถนำมาทาแผลที่ถูกรองเท้ากัดได้ โดยการทาน้ำมันของว่านหางจระเข้บนแผล 2-3 หยด วันละ 2 ครั้ง จะช่วยทำให้แผลรองเท้ากัดเจอจางลง
4. ใบสะเดา
ใบสะเดานั้น มีสรรพคุณต้านอาการอักเสบ ช่วยลดการระคายเคืองของแผลและลดการติดเชื้อ ใครที่ถูกรองเท้ากัดมา สามารถใช้รักษาแผลได้เลย ให้นำใบสะเดาผสมกับน้ำเล็กน้อย แล้วนำไปทาบนแผล จากนั้นทิ้งไว้ 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น ทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
5. เนย
เนยนอกจากใช้ทาบนขนมปังหรือประกอบอาหารแล้ว ยังสามารถบรรเทาปวดจากการโดนรองเท้ากัดได้ เพียงนำเนยมาทาบริเวณแผลที่ถูกรองเท้ากัดก่อนนอน เพื่อให้เนยได้ซึมซาบเข้าสู่บริเวณแผลเพื่อทำให้แผลนั้นดีขึ้น
6. ติดแผ่นกันรองเท้ากัด
การติดแผ่นกันรองเท้ากัด เป็นวิธีที่แสนง่ายในการป้องกันการโดนรองเท้ากัด เพียงแค่หาซื้อแผ่นดังกล่าวตามร้านค้า แล้วนำมาแปะบริเวณที่รองเท้ากัด อาทิ หลังส้นเท้า หรือ นิ้วเท้า แผ่นกัดรองเท้าจะเป็นตัวกลางที่ช่วยลดการเสียดสีโดยตรง ระหว่างเท้าและรองเท้า อีกทั้งยังมีผิวสัมผัสที่นุ่ม ทำให้เราสามารถสวมใส่รองเท้าคู่ใหม่แบบสบายใจ บอกลาเรื่องโดนรองเท้ากัดได้เลย
7. ทาวาสลีน
ปกติแล้วนั้น วาสลีนมักนำมาทาตามบริเวณผิวกาย หรือทาบริเวณริมฝีปาก เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้ผิวและริมฝีปาก ดังนั้น การทาวาสลีนที่บริเวณหลังส้นเท้าและนิ้วเท้า จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้บริเวณดังกล่าวเช่นกัน ทำให้เท้าไม่แห้งกร้าน พร้อมทั้งผิวของวาสลีน จะช่วยลดการเสียดสีของเท้าและรองเท้าคู่ใหม่ของคุณ ทำให้ลดโอกาสการเกิดรองเท้ากัดนั่นเอง
หรืออีกหนึ่งวิธีในการใช้ คือการนำวาสลีนไปทารองเท้าตรงจุดที่กัดเท้า ทาด้วยปริมาณมากและทิ้งเอาไว้ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นให้นำสำลีเช็ดออก วาสลีนจะช่วยทำให้รองเท้าตรงบริเวณที่ทาอ่อนนุ่มลง ทำให้สามารถสวมใส่รองเท้าคู่ใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
8. ทาน้ำมันมะพร้าว
วิธีการใช้นั้นคล้ายกับวาสลีน โดยการนำน้ำมันมะพร้าวไปทาบริเวณขอบรองเท้า บริเวณด้านในรองเท้า หรือบริเวณที่รองเท้ามักกัด ทาให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน น้ำมันมะพร้าวจะช่วยลดการเสียดสี พร้อมทั้งมอบความชุ่มชื้นและต้านการอักเสบของเท้า ทำให้เวลาสวมใส่รองเท้าจะไม่ระคายเคืองอีกต่อไป
9. โรยแป้ง
แป้งเด็ก ไอเทมสามัญประจำบ้านที่เชื่อว่าทุกคนต้องมี และมันก็ช่วยแก้ปัญหารองเท้ากัดได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำแป้งเด็กโรยที่ด้านในรองเท้าทุกครั้งก่อนสวมใส่ เพราะแป้งเด็กจะช่วยให้ด้านในรองเท้ามีความลื่น ดังนั้นแล้ว เมื่อสวมใส่รองเท้าจะช่วยลดการเสียดสีของเท้า ลดอัตราการเกิดรองเท้ากัด รวมทั้งแป้งเด็กยังมีคุณสมบัติดูดความชื้นอีกด้วย
10. ใช้ผ้าหรือสำลีชุบน้ำเช็ดรองเท้า
วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่รีบใส่รองเท้าใหม่ เริ่มต้นจากการนำผ้าหรือสำลีไปชุบน้ำ แล้วนำไปทาบริเวณด้านในของรองเท้าจนเกิดความชื้น จากนั้นนำกระดาษขยำเป็นก้อนกลม แล้วยัดในรองเท้าจนเต็ม ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เมื่อด้านในรองเท้าแห้งแล้ว จึงสามารถนำมาสวมใส่ได้เลย วิธีดังกล่าวจะทำให้รองเท้านิ่มลง แต่อาจต้องเช็กให้ดีก่อนสวมใส่ ว่าด้านในแห้งดีแล้วหรือไม่ หากยังไม่แห้งให้นำไปพึ่งแดดให้เรียบร้อย เพื่อลดกลิ่นเหม็นอับในรองเท้า
11. สวมถุงเท้า
การสวมถุงเท้า ถือว่าเป็นวิธีเบสิกและง่ายที่สุด เพราะถุงเท้าจะเป็นตัวรับแรงเสียดสีระหว่างเท้าของเราและรองเท้าโดยตรง ทำให้ลดโอกาสการเกิดแผลถลอกและการระคายเคืองจากรองเท้ากัด โดยแนะนำให้เลือกถุงเท้าที่มีความยาวถึงข้อเท้า เพื่อให้สามารถป้องกันการโดนรองเท้ากัดได้อย่างครอบคลุม
12. เลือกรองเท้าขนาดพอดีเท้า
วิธีสุดท้ายในการป้องกันรองเท้าใหม่กัด นั่นคือการเลือกสวมใส่รองเท้าขนาดพอดีเท้า เนื่องจากบางครั้งเราอาจจะสั่งซื้อรองเท้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือฝากผู้อื่นซื้อมาให้ ทำให้ไม่ได้มีโอกาสทดลองสวมใส่ก่อนว่าพอดีไหม เมื่อนำมาใส่แล้วมีขนาดใหญ่เกินหรือเล็กเกินเท้า อาจเกิดปัญหาสวมใส่ไม่สบาย พร้อมเกิดการเสียดสีของเท้าทำให้เกิดอาการรองเท้ากัดได้ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งเมื่อเลือกซื้อรองเท้าใหม่ ควรไปทดลองสวมใส่ในร้านรองเท้าและทดลองเดินให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ตัดปัญหารองเท้ากัดตั้งแต่เนิ่น ๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง