ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมดึงธนาคารพาณิชย์เข้าหารือ หลังเตรียมเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 1% จากการจ่ายบริการต่างประเทศ 1 พ.ค. 67 นี้ พร้อมให้ชี้แจงต้นทุนอย่างละเอียด
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมเรียกสถาบันการเงิน เข้าชี้แจงประเด็นที่เตรียมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท (DDC Fee) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด ผ่านบัตรเครดิตวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด พร้อมรับฟังทุกฝ่าย มั่นใจพูดคุยเสร็จก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2567
สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมนั้น ทางธนาคารพาณิชย์ไทย จะบวกเพิ่มในการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตวีซ่า หรือ มาสเตอร์การ์ด ในการชำระสินค้าหรือบริการ ด้วยสกุลเงินบาทกับร้านค้า, ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ เช่น Apple, Google, Netflix, Spotify, Steam เป็นต้น รวมถึงการกดเงินสดที่เลือกเป็นสกุลเงินบาท ผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ โดยจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียม 1% ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะให้ทางธนาคารพาณิชย์ชี้แจงว่า มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการให้บริการในส่วนนี้อย่างไร ทั้งนี้จะพิจารณาว่าใครจะได้รับผลประโยชน์จากการแบกรับต้นทุนส่วนนี้ หากมีการปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจริง ควรแจ้งให้ประชาชนทราบว่า เงินที่ปรับขึ้นส่วนนี้จะนำไปใช้ในค่าใช้จ่ายใด และมีทางเลือกให้ประชาชนใช้ทางเลือกอื่นในการชำระค่าบริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ
นายสมชาย ได้กล่าวว่า “เหมือนมีถนนหลายเส้น ถ้าเส้นลัดต้องมีจ่ายค่าผ่านทาง แต่ถ้าเราไม่อยากไปเส้นลัด ก็ไปเส้นยาวหน่อย ก็เสียเงิน แต่ไม่ใช่ปิดเส้นฟรี แล้วบังคับให้ไปใช้เส้นเสียเงิน ก็ไม่ถูก ควรเปิดข้อมูลให้เห็นทั้ง 2 ฝั่งแล้วให้ประชาชนเลือกเอง”
ในส่วนของกรณีที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม 1% สูงไปหรือไม่นั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะรับฟังทั้ง 2 ด้าน โดยในกรณีนี้มีอยู่ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1. ผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ถูกเรียกเก็บ 2. ทางสถาบันการเงินที่เป็นคนเก็บ และ 3. ตัวกลาง คือ วีซ่า และ มาสเตอร์การ์ด เชื่อว่าการหารือทั้ง 3 ฝ่ายจะจบลงก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังตรวจสอบในเรื่องนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตรียมตัว ธนาคาร เก็บค่าธรรมเนียม 1% เมื่อจ่ายเงินแพลตฟอร์ม ตปท. เริ่ม 1 พ.ค. 67
- สภาพัฒน์ แนะ ธปท. ปรับจ่ายบัตรเครดิต ขั้นต่ำกลับไป 5%
- ธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มวันหยุด 12 เมษายน 2567 รวมหยุดยาว 5 วัน