Line Newsไลฟ์สไตล์

ประวัติ ‘อุเทนถวาย’ โรงเรียนช่างก่อสร้าง แห่งแรกในประเทศไทย

ย้อนประวัติ อุเทนถวาย ตำนานโรงเรียนช่างก่อสร้าง แห่งแรกของประเทศไทย สู่การนัดชุมนุมศิษย์เก่า-ปัจจุบัน ยื่นหนังสือคัดค้านการย้ายเขตพื้นที่

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นักศึกษา ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย จำนวนกว่า 3,000 คน ได้มีการนัดรวมตัวกันในช่วงเวลา 09.00 น. บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย ก่อนจะเริ่มเคลื่อนขบวนเข้าถนนพญาไท มุ่งหน้าแยกสามย่าน เพื่อไปยื่นหนังสือถึงสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะมุ่งหน้ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จากนั้นเวลา 14.00 น. จะเดินเท้าจากกระทรวงอว. ไปยังอาคารรัฐสภาต่อไป

Advertisements

เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานถึง 48 ปีแล้ว ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2556 สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการขอคืนพื้นที่ของจุฬาฯ ที่ให้อุเทนถวายเช่า ว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ทำสัญญาเช่ากับจุฬาฯ บนพื้นที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2478-2546 โดยจุฬาฯ ได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา

โดยสาเหตุที่ต้องการพื้นที่คืน นั่นเพราะ จุฬาฯ มีโครงการที่นำความรู้เพื่อสนองตอบการแก้ปัญหาของสังคมอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องใช้สถานที่ เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนของชาติ และเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอันใกล้ตามนโยบายของรัฐบาล

ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการส่งหนังสือ เพื่อให้อุเทนถวายส่งมอบพื้นที่คืนให้ ทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน ทั้งยังมีก่ารยืนหนังสือถึง รมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีการพิจารณางบประมาณในสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่แห่งใหม่ให้อุเทนถวายด้วย

  • เริ่มตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) โดยในระหว่างการพิจารณาดังกล่าวนั้นนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง
  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 กยพ. ได้มีมติชี้ขาดโดยให้ อุเทนถวาย ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้กับ จุฬาฯ พร้อมทั้งต้องชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ โดยมติที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า ในการย้ายนั้น ขอให้กระทรวงศึกษา ประสานงานกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุและงบประมาณสนับสนุนเพื่อการนี้ต่อไป
  • และในปี พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีรับทราบมติดังกล่าว และอัยการสูงสุดแจ้งผลชี้ขาดของ กยพ. ต่อจุฬาฯ และอุเทนถวาย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับผลการทูลเกล้าถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. ถึงอุเทนถวาย ฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554
  • กระทั่ง วันที่ 14 ธ.ค. 65 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้วิทยาลัยอุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีคำสั่งให้ต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่งย้าย

ประวัติ อุเทนถวาย ตำนานโรงเรียนช่างก่อสร้าง แห่งแรกของไทย

วันนี้เรามาทำความรู้กับ สถาบัน’อุเทนถวาย ตำนานโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย โดยย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ได้บริหารการศึกษาศิลปหัตถกรรม ของโรงเรียนเพาะช่างให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ได้รับความนิยมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงเจ้านาย ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป ตลอดชาวต่างประเทศ

พระองค์ทรงจัดตั้งแผนกช่างทอง แผนกเจียระไนเพชร พลอย แผนกทำบล็อกสกรีน โดยเฉพาะเครื่องถม ได้ขยายวิธีการไปอย่างกว้างขวางจนเป็นที่แพร่หลาย หรือที่รู้จักกันตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน คือ “ถมจุฑาธุช “ อีกทั้งยังทรงจัดให้มีพิธีไหว้ครูช่างตามแบบโบราณขึ้นภายในโรงเรียนเพาะช่างเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2463

Advertisements

นอกจากนั้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ก็ยังทรงคิดสีประจำโรงเรียนขึ้น คือ สีแดง-ดำ โดยได้ให้ความหมายของแต่ละสีเอาไว้ว่า

  • สีแดง หมายถึง เลือดของช่าง
  • สีดำ หมายถึง ไม่ใช่ช่าง

เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้นักเรียนช่างทั้งหลายได้มีเลือดเป็นสีแดงอยู่เสมอ อย่าให้สีแดงของช่างจางหายไปจนกลายเป็นสีดำ

ทั้งยังทรงขยายแผนกการค้า ทรงสร้างห้องแสดงสินค้า, ห้องประชุมโรงเรียนเพาะช่าง จนกระทั่งนำผลกำไรที่ได้จากการค้าของที่ทำขึ้นภายในโรงเรียนช่า ซึ่งเป็นฝีมือของนักเรียนในขณะนั้น ไปสร้างเป็น โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง นั่นก็คือ วิทยาเขตอุเทนถวาย ในปัจจุบันนั่นเอง

วิทยาเขตอุเทนถวาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เดิมมีชื่อ โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง, โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือ “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้โอนมาเป็นวิทยาเขตในสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย”

ที่มาของชื่อ อุเทนถวาย นั้นมาจากสถานที่ตั้งของโรงงานโรงเรียนเพาะช่าง การก่อสร้างโรงงานโรงเรียนเพาะช่าง เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ขาดแคลนช่างที่เป็นคนไทย โดยส่วนมากหัวหน้าช่างมักจะเป็นชาวจีน เพื่อเป็นการทำนุบำรุงวิชาช่างก่อสร้างไทย ในปีพ.ศ. 2474 จึงได้มีการเปิดสอนวิชาช่างแผนกแบบแปลน และเปิดวิชารับเหมาก่อสร้างขึ้น ที่เชิงสะพานอุเทนถวาย อันเป็นที่ตั้งโรงงานเพาะช่าง ที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2466 ซึ่งตอนนั้นให้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกก่อสร้าง

ในส่วนของที่มาของชื่อ สะพานอุเทนถวาย นั้นเกิดจาก สะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นจากเงินบริจาคของข้าราชการ และพนักงานกรมสรรพากร เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 8,015 บาท 40 สตางค์ ในครั้งนั้น เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งกำกับดูแลกรมสุขาภิบาล ได้เสนอชื่อสะพาน โดยได้ทูลเกล้าฯ ถวายให้เลือก 4 ชื่อ ได้แก่ สะพานอุเทนอุทิศ, สะพานสรรพากรอุทิศ, สะพานบริวารถวาย, และ สะพานเบญจมราชูทิศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “อุเทนถวาย”

กระทั่งเรื่องราวผ่านพ้นมาจนปี พ.ศ. 2533 ได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนอีกครั้ง เป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย” และใช้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นมาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยจัดว่าเป็นวิทยาเขตหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก นั่นเอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : สมาคมศิษย์เก่าอุทเนถวาย

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button