ศธ. เตรียมแจกแท็บเลตให้นักเรียน ช่วยลดภาระครู ตามนโยบาย
โฆษก ศธ. เผยเตรียม แจกแท็บเลตให้นักเรียน เพื่อเป็นการช่วยลดภาระครู ตอบโจทย์การสอนรูปแบบใหม่ ตามนโยบายเดินหน้าเรียนได้ทุกที่
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ.เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่จะเดินหน้าเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และมีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือโครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และการแจกอุปกรณ์เทคโนโลยีประกอบการสอนให้แก่ครูนั้น ขณะนี้การดำเนินการเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงบประมาณปี 2567 และปี 2568 ซึ่งในปี 2567 จะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนของนักเรียนและครู ส่วนในปีงบประมาณ 2568 จะเริ่มแจกอุปกรณ์การสอนแท็บเล็ต หรือแล็ปท็อป โดยนำร่องในโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชนก่อน
สำหรับการแจกอุปกรณ์การสอนแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปนั้น เชื่อว่าจะเป็นการช่วยลดภาระงานครู และตอบโจทย์การสอนรูปแบบใหม่ที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการมีแพลตฟอร์มการเรียนรู้หรือคลังเนื้อหาสาระการเรียนการสอนครบทุกวิชา โดยครูผู้สอนสามารถจัดระบบตารางการสอน และตรวจการบ้านผู้เรียนได้ผ่านอุปกรณ์การใช้งานที่แจกให้ อีกทั้งทำให้ครูได้ทราบข้อมูลเด็กรายบุคคลว่ามีจุดอ่อนและจุดเด่นในวิชาไหน เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน โดยการแจกอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นระบบเช่าใช้งาน ทั้งนี้เมื่อแจกอุปกรณ์แล้วก็อาจทำให้ค่าไฟโรงเรียนเพิ่มขึ้น เพราะอุปกรณ์ต้องชาร์จแบตเตอรี่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีมาตรการประหยัดพลังงานโดยติดตั้งโซลาร์เซลล์
“เราพบค่าสาธารณูปโภคหมวดค่าไฟสูงมาก ศธ.จึงได้เจรจาความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีค่าไฟตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะประหยัดค่าไฟได้ถึง 30-35% ส่วนโรงเรียนขนาดกลางและเล็กกำลังไปหารือกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งกองทุนยินดีสนับสนุนเงินให้โรงเรียนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเรื่องความไม่เชี่ยวชาญของครูและผู้บริหารในเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และจะได้เกิดความปลอดภัยกับทุกฝ่าย จึงได้ดำเนินการในรูปแบบจีทูจี หรือการซื้อขายระหว่างกองทุนกับการไฟฟ้านครหลวง และ กฟผ.ไปหาผู้รับจ้างในการติดตั้งโซลาร์เซลล์เอง เพราะหน่วยงานดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคมากกว่าสถานศึกษา” นายสิริพงศ์กล่าว