เกร็ดน่ารู้ ซองอั่งเปา คืออะไร แตกต่างจากเงินแต๊ะเอียยังไงบ้าง เปิดความหมายต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2568
พาไปทำความเข้าใจ ความหมายของ ซองอั่งเปา ทำไมต้องเป็นสีแดง และเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหรกันแน่? เพราะเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้ว อั่งเปา กับ เงินแต๊ะเอีย ไม่เหมือนกันนะ งานนี้บอกเลยว่าถ้าเข้าใจแล้ว รับรองขอถูกซองในวันเทศกาล ตรุษจีน 2568 แน่นอน ฉะนั้นอย่ามัวรอช้า รีบตามไทยเกอร์ไปดูพร้อมกันได้เลย
เปิดที่มา ซองอั่งเปา คืออะไรกันแน่?
อั่งเปา แปลตรงตัวว่า ซองสีแดง ดังนั้นเราจึงสามารถเรียกว่าอั่งเปาได้เลย ไม่จำเป็นจะต้องเติมคำว่า ซอง ไว้ข้างหน้า เพราะจะเป็นการทำให้ความหมายซ้อนทับกัน ซึ่งรากศัพท์ของคำว่า อั่งเปา เดิมทีมาจากภาษาจีนถิ่นแต้จิ๋ว ในขณะที่ภาษาจีนกลางจะเรียกอั่งเปาว่า “หงเปา” นั่นเอง
สำหรับอั่งเปาจะนิยมมอบให้กันในเทศกาลสำคัญ อาทิ วันตรุษจีน (ปีใหม่จีน) เป็นต้น โดยผู้ใหญ่จะสอดแทรกเงินไว้ในซองแดง เพื่อมอบให้ลูกหลาน ซึ่งสาเหตุที่ใช้ซองสีแดง เพราะชาวจีนเชื่อว่าสีแดงเป็นสีมงคล ที่จะมาพร้อมความร่ำรวย ความสุข และอายุที่ยืนยาว
อั่งเปา – แต๊ะเอีย ต่างกันยังไง
คนไทยอาจจะเข้าใจผิดว่า อั่งเปา และ แต๊ะเอีย มีความหมายเดียวกัน แต่ความจริงแล้วคำว่า “แต๊ะเอีย” แปลว่า ทับที่เอว ซึ่งเป็นศัพท์ที่มีความเป็นมาจากอดีต เนื่องจากสมัยก่อนหากจะให้เงินเด็ก จะต้องนำใส่ถุงเงิน-ถุงทอง หรือร้อยด้วยเชือก แล้วเหน็บเอาไว้ให้ที่เอวนั่นเอง
ดังนั้นอั่งเปากับแต๊ะเอียจึงมีความคล้าย แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะอั่งเปาจะมาในรูปแบบของซองสีแดงเสมอ ในขณะที่แต๊ะเอียจะนิยมให้กับเด็กเล็ก และเหน็บไว้ในที่เอวแทนการใส่ซอง
สรุปความแตกต่างได้ดังนี้ว่า อั่งเปา เป็นคำเรียก “ซองสีแดง” ใช้ใส่เงินหรือของมีค่า มอบให้กันได้ในหลายโอกาส ไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้น ส่วนคำว่า แต๊ะเอีย เป็นคำเรียก “เงิน” ที่ผู้ใหญ่มอบให้กับ เด็กๆ ใน “วันตรุษจีน” นั่นเอง
ข้อห้าม ซองอั่งเปา ในวันตรุษจีน
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ หากใครที่วางแผนจะเตรียมซองอั่งเปาไปแจกญาติหรือเพื่อน อย่าลืมระวังเรื่องข้อห้ามตามความเชื่อของคนจีนด้วยนะ
เนื่องจากคนจีนเชื่อกันว่า ซองอั่งเปาควรเตรียมเอาไว้เป็นจำนวนเลขคู่ ห้ามเป็นจำนวนเลขคี่เด็ดขาด และเมื่อเตรียมแล้วก็ต้องระวัง ไม่ให้จำนวนซองลงท้ายด้วย 4 เพราะเลข 4 มีคำอ่านที่พ้องเสียงกับคำว่า “ตาย” ในภาษาจีนนั่นเอง
ตรุษจีน 2568 วันไหนบ้าง
ตรุษจีนปีนี้ บอกเลยว่าผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ อาจจะเพราะไม่ได้กลับไปไหว้บรรพบุรุษที่ต่างจังหวัดมา 2-3 ปีแล้ว ปีนี้เลยตั้งใจว่าต้องจัดเต็ม แต่เอ๊ะ… ตรุษจีน 2568 นี่มันวันที่เท่าไหร่นะ? แล้ววันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันไหนบ้าง เดี๋ยวจะเตรียมตัวไม่ทัน เลยต้องรีบมานั่งเช็กปฏิทิน แล้วก็ขอเอามาแชร์ให้เพื่อน ๆ ที่อาจจะกำลังงง ๆ เหมือนกัน รู้ไว้เตรียมตัวทัน ไหว้เจ้า รับอั่งเปา เที่ยวกันให้ฉ่ำ ๆ ไปเลย
วันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2568 – วันจ่าย
วันนี้แหละที่ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนจะต้องรีบพุ่งตัวไปตลาด เตรียมซื้อของไหว้ ทั้งหมูเห็ดเป็ดไก่ ผลไม้มงคล ขนมเทียน ขนมเข่ง กระดาษเงินกระดาษทอง โอ้โห สารพัดของไหว้ นี่ยังไม่รวมของที่ต้องซื้อฝากญาติ ๆ อีกนะ คิดแล้วก็เหนื่อย แต่ก็สนุกดี ได้บรรยากาศตรุษจีนสุดๆ ยิ่งช่วงใกล้ๆ วัน คนยิ่งเยอะ ต้องรีบไปจับจองของดีๆ กันหน่อย
วันอังคารที่ 28 มกราคม 2568 – วันไหว้
วันนี้เป็นวันที่สำคัญที่สุดเช่นกัน หลายครอบครัวจะต้องตื่นแต่เช้ามืด มาช่วยอาม่าจัดของไหว้ เพราะในช่วงเช้ามักเป็นเวลาในการไหว้เทพเจ้า ส่วนช่วงสายไหว้บรรพบุรุษ ช่วงบ่ายไหว้ผีไม่มีญาติ เรียกว่าต้องจัดของไหว้เยอะมาก และต้องแยกเป็นสามโต๊ะเลยทีเดียว ที่สำคัญไปกว่านั้น วันนี้เป็นวันรวมญาติด้วยครับ เผลอ ๆ ได้แต๊ะเอีย (อั่งเปา) ด้วยนะ
วันพุธที่ 29 มกราคม 2568 – วันเที่ยว (วันตรุษจีน)
หลังจากไหว้เจ้าเสร็จ ก็ถึงเวลาแห่งความสุข วันนี้ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน เราก็จะใส่เสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส ส่วนใหญ่ก็สีแดง สีมงคล แล้วก็ไปไหว้ขอพรผู้ใหญ่ รับอั่งเปา ไปเที่ยว ไปกินอาหารอร่อย ๆ กันทั้งครอบครัว
สำหรับวันหยุดตรุษจีนของราชการในประเทศไทยนั้น ไม่ได้กำหนดวันหยุดตายตัวทุกปี ต้องรอประกาศจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่โดยปกติแล้วจะหยุด 1-3 วัน ยังไงก็ต้องคอยเช็กข่าวกันอีกทีนะครับ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- ไหว้รถ วันตรุษจีน 2568 บูชาแม่ย่านางรถ เสริมมงคลต้องใช้อะไรบ้าง
- แจกฟรี การ์ด อวยพรวันตรุษจีน 2568 ส่งต่อข้อความดีๆ ให้คนที่รัก