ใส่แมสก์ด่วน 6 จังหวัด ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงเกินมาตรฐาน
เช้านี้ 6 จังหวัดในประเทศไทยค่าฝุ่นสูงติดอันดับ ไทยพบจุดความร้อน 1,151 จุด วิเคราะห์เรียลไทม์โดยแอปฯ “เช็คฝุ่น” ระบบติดตาม PM2.5 จากดาวเทียม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น”
จังหวัดค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. พื้นที่กรุงเทพพบค่าฝุ่น PM2.5 เป็นสีเขียว ยังคงอากาศดี อยู่ที่ 23.0 ไมโครกรัม ส่วน 6 จังหวัดในประเทศไทยที่มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน มากกว่า 75.1 ไมโครกรัม มีความเข้มข้นอยู่ในระดับสีแดง ซึ่งหมายถึงฝุ่นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางเดินหายใจ แนะนำสวมสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน มี 6 จังหวัดดังต่อไปนี้
1. หนองบัวลำภู 98.0 ไมโครกรัม
2. ชัยภูมิ 83.1 ไมโครกรัม
3. สุโขทัย 82.9 ไมโครกรัม
4. เลย 81.5 ไมโครกรัม
5. เพชรบูรณ์ 76.1ไมโครกรัม
6. ลำพูน 75.6 ไมโครกรัม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 GISTDA หน่วยงานรัฐผู้ให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ รายงานข้อมูลจุดความร้อนทั่วประเทศไทย พบว่ามีอยู่ 1,151 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 372 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 308 จุด พื้นที่เกษตร 190 จุด พื้นที่เขต สปก. 157 จุด ชุมชมอื่น ๆ 114 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 10 จุด
จังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กาญจนบุรี 247 จุด, ชัยภูมิ 169 จุด และนครราชสีมา 76 จุด ประชาชนในจังหวัดสามารถรับรู้ได้ถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้น และร้อนอบอ้าวตลอดทั้งวัน
ด้านจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน พบร้อนมากที่สุด 4 ประเทศ อยู่ที่ พม่า 1,521 จุด, กัมพูชา 524 จุด, ลาว 388 จุด และ เวียดนาม 120 จุด
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สนใจดูปริมาณฝุ่น PM2.5 ของทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทั้งแบบรายวันและรายชั่วโมง สามารถใช้แอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ pm25.gistda.or.th เพื่อดูแถบสีแสดงความเข้มข้นของฝุ่นละอองก่อนออกจากบ้าน
ข้อมูลบนแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 อย่างแม่นยำ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก : pm25.gistda.or.th
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- รวมให้ครบ 11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM 2.5 พร้อมแนะแอปฯ เช็กฝุ่นพิษ
- สาวดวงซวย ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เพราะควันบุหรี่มือสอง พ่อกับผัวสูบบุหรี่จัด
- ชัชชาติ เปิดตรวจโรคฟรี ลานคนเมืองกรุงเทพ ลงทะเบียน 24 ธ.ค. 66