รัดเข็มขัดให้แน่น เครื่องบิน เทคออฟ แลนดิ้ง เวลาอันตรายที่สุดของเที่ยวบิน
ถอดบทเรียน ข่าวผู้โดยสารต่างชาติเปิดประตูเครื่องบิน เชียงใหม่ ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดของการบิน
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ระทึกขวัญบนเครื่องบิน เวลาประมาณ 21.57 น. สายการบินไทย เที่ยวบินแอร์บัส A 320 เมื่อผู้โดยสารต่างชาติรายหนึ่งเกิดอาการแพนิค เปิดประตูเครื่องบินขณะที่เครื่องกำลังจะบินขึ้น จากสนามบินเชียงใหม่ไปปลายทางสนามบินดอนเมือง
ลูกเรือพยายามควบคุมสถานการณ์และปลอบประโลมผู้โดยสารหญิง แต่เธออยู่ในอาการที่ตื่นตระหนกมาก จนต้องแจ้งให้กัปตันทราบ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าจัดการสถานการณ์อย่างมืออาชีพ ไม่เกิดความสูญเสียร้ายแรง แต่ส่งผลให้หลายเที่ยวบินที่กำลังแลนดิ้ง ต้องดีเลย์ บางลำต้องเปลี่ยนไปลงจอดสนามบินใกล้เคียง
ลองนึกภาพว่าหากผู้โดยสารคนนี้เปิดประตูสำเร็จตอนเครื่องกำลังขึ้นบินไปแล้ว จะเกิดอันตรายมากขนาดไหน เพราะตามหลักการบินแล้ว ช่วงเวลาเครื่องขึ้นลงไต่ระดับการบิน เป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุมากที่สุด
เทคออฟ (Takeoff)
เครื่องบินเทคออฟ คือกระบวนการที่เครื่องบินเริ่มต้นการเดินทางโดยยกตัวขึ้นจากพื้นดินเพื่อเริ่มต้นการบิน ต้องอาศัย 3 ส่วนสำคัญคือแรงยก แรงขับ และความเร็วในการเร่งเครื่อง ซึ่งกัปตันต้องคำนวณอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องบินมีความสามารถในการยกตัวขึ้นอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
เครื่องบินจะเคลื่อนที่ไปบนรันเวย์ เหมือนนกที่กำลังวิ่งสะสมแรงทั้งหมดในการส่งให้บินได้ ซึ่งใช้ความเร็วสูง แรงยกสูง แต่ยังอยู่ใกล้พื้นดิน ดังนั้นหากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน ระยะลอยตัวมีไม่มากพอให้แก้ไขสถานการณ์ทัน
หากช่วงเร่งความเร็วผ่านไปได้ด้วยดี เครื่องบินจะยกขึ้นเพื่อไต่ระดับจากนั้นเพื่อไปถึงเพดานบิน ไปอยู่ที่ 35,000 ถึง 41,000 ฟุต เป็นระยะเสถียร กัปตันจะปิดสัญญาณเตือนแจ้งรัดเข็มขัด หากคุณบินมาถึงตอนนี้ได้ โล่งใจได้เปลาะหนึ่ง จากนั้นไปลุ้นระทึกต่อตอนเครื่องลงจอด
แลนดิ้ง (Landing)
การลงจอดของเครื่องบิน (Landing) เป็นกระบวนการลดความสูงจากอากาศยานมายังพื้นดินและมาหยุดอยู่บนพื้นผิวรันเวย์อย่างปลอดภัย ขั้นตอนนี้นักบินทุกคนยกให้เป็นลำดับสำคัญและท้าทายที่สุดในการบิน เพราะต้องการการควบคุมเครื่องบินอย่างแม่นยำและการประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ช่วงที่เครื่องบินลดระดับลงนั้น จะอาศัยการปรับลดความเร็วให้เหมาะสมกับแรงยกของปีกที่ลดลง และจะประคองได้จนถึงเครื่องลง
หลังจากที่ล้อเครื่องบินสัมผัสกับพื้นแล้ว ความเร็วสะสมจะยังคงอยู่ ลำเครื่องบินจะต้องแล่นไปเรื่อยๆ บนทางยาว จากนั้นนักบินจะใช้เบรกและเทคนิคอื่นๆ เพื่อช่วยให้เครื่องบินช้าลงและหยุดอย่างปลอดภัย
ทำไมช่วงการเทคออฟ ลงจอด ถึงอันตรายมากที่สุด
จากสถิติอุบัติเหตุทางการบินที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดของการบินมักอยู่ในช่วง 3 นาทีแรกหลังการเทคออฟและช่วง 8 นาทีสุดท้ายก่อนการลงจอด ฝรั่งจะมีสำนวนว่า “Plus Three/Minus Eight” ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุการบินเกิดขึ้นในช่วงเวลาเหล่านี้
อ้างอิงข้อมูลสถิติการบินจาก Aviation Safety Network (ASN), Flight Safety Foundation (FSF) และ National Transportation Safety Board (NTSB) พบจุดสังเกตว่า อุบัติแทบทั้งหมดมักเกิดขึ้นในช่วงเทคออฟและแลนดิ้ง
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ การเทคออฟ เครื่องบินต้องเร่งความเร็วจากศูนย์ไปถึงความเร็วที่สามารถยกตัวขึ้นได้ในเวลาอันสั้น นักบินต้องจัดการกับปัจจัยหลายอย่างรวมถึงสภาพอากาศ, การตั้งค่าเครื่องยนต์, และการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสม ปัญหาที่ทำให้เกิดความสูญเสียส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขัดข้องของเครื่องบิน และนกบินเข้าเครื่องยนต์ ส่งผลให้นักบินสูญเสียการควบคุมจนเครื่องบินตก
ในทางกลับกัน ช่วงลงจอด เครื่องบินต้องลดความเร็วและความสูงลงมายังพื้นดิน ทั้งมีเรื่องก็การประคองเครื่องไม่ให้ลดลงมาเร็วจนเกินไป สภาพอากาศเลวร้าย นักบินมองไม่เห็นทัศวิสัยอของรันเวย์ และล้อไม่กาง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสีย
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมแอร์โอสเตส จึงกำกับให้ผู้โดยสารนั่งอยู่กับที่ รัดเข็มขัดให้แน่น ปรับพนักพิงตั้งตรง เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ เปิดหน้าต่าง เพราะหากเกิดฉุกเฉินจะช่วยลดความอันตรายที่ร่างกายจะไปกระแทกกับสิ่งของต่าง ๆ และถ้าเกิดเครื่องยนต์ขัดข้อง มีไฟไหม้ ผู้โดยสารเห็นทัน แจ้งเจ้าหน้าที่ ก็ช่วยลดความเสี่ยงเครื่องบินตกได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แจ้งข้อหา ชายแคนาดาหลอน เปิดประตูเครื่องบิน อ้างมีคนจะทำร้า
- สนามบินนิวซีแลนด์วุ่น เพนกวินหลุดไปบนรันเวย์ ทำเที่ยวบินดีเลย์
- ชายเวียดนาม ซื้อตั๋วเครื่องบิน หวังพบพ่อครั้งสุดท้าย แต่เที่ยวบินดีเลย์ 7 ชั่วโมง เข่าอ่อนทรุดกับพื้น