ข่าว

คลิปไวรัล “สิงโตนั่งรถสปอร์ต” กลางเมืองพัทยา ชมวิวราตรี คนถามเลี้ยงได้เหรอ

นักท่องเที่ยวช็อก พบสิงโตนั่งรถสปอร์ตยุโรป เปิดประทุน พร้อมปลอกคอสัตว์เลี้ยง นั่งรถกินลมชมวิว เมืองพัทยาศิวิไลซ์

คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านผู้ใช้บัญชี TikTok ชาวต่างชาติรายหนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าตัวกำลังขี่มอเตอร์ไซค์ ท่องเที่ยวเมืองพัทยา ชมแสงสีเสียงยามค่ำคืนด้วยความเพลิดเพลิน จากนั้นก็มีชายชาวต่างชาติ ซิ่งรถสปอร์ตคันหรู เบนท์ลี่ย์ เปิดประทุน ขับปาดหน้า พร้อมกับหัวของสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักอย่าง “สิงโต” ใช่ครับ เขาพาสิงโตมานั่งรถเล่น พร้อมปลอกคอสีเหลืองแสบตาโดนใจผู้พบเห็นยิ่งนัก

ทำให้ชาวเน็ตทั้งไทยและต่างประเทศต่างเป็นกังวลถึงความปลอดภัย รวมไปถึงข้อกำหนดกฎหมายในประเทศไทยเกี่ยวกับการนำสิงโตมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้หรือไม่?

สิงโตนั่งรถ พัทยา 2567

ขั้นตอน “การเลี้ยงสิงโต” ตามกฎหมายไทย

อย่างไรก็ตาม ทีมงาน The Thaiger ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า อ้างอิงตาม ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ระบุว่า

กำหนดให้สิงโต (Panthera Leo) เป็นสัตว์ป่าควบคุม หรือซากสัตว์ป่าควบคุม ที่ต้องแจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ทั้งนี้ หากมีสิงโตในครอบครอง และแจ้งตามกฎหมาย จะไม่ถือว่ามีความผิด และสิงโตจัดว่าเป็น สัตว์ป่าคุ้มสครอง ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมสัตว์ดังกล่าวไม่ให้ก่อภัยอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากพ้นกำหนดระยะเวลาการอนุญาตให้แจ้งครอบครองสิงโต หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสิงโตหรือซากสิงโตดังกล่าว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 19 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

@paga.gennari

GTA 6 🇹🇭 #pattaya #lion #gta

♬ original sound – Pierre-Alexandre

สำหรับวิธีปฏิบัติการขออนุญาตเลี้ยงสิงโต ตามข้อกำหนดกฎหมายในประเทศไทย มีขั้นตอนทั้งหมด 6 ข้อ ประกอบด้วย

1. ผู้มีสิงโตไว้ในครอบครองมาก่อนวันที่ประกาศ (18 ตุลาคม 2565) ให้แจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2565-16 มีนาคม 2566)

2. ผู้มีสิงโตไว้ในครอบครองหลังประกาศ (18 ตุลาคม 2565) สามารถแจ้งครอบครองได้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยต้องมีเอกสารหลักฐานการได้มาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เช่น ใบนำเข้า ใบกำกับการจำหน่าย หรือใบเสร็จจากร้านค้า เพื่อยืนยันการได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ไม่สามารถใช้บันทึกแจงรายละเอียดการได้มาซึ่งสัตว์ป่าควบคุมหรือซากสัตว์ป่าควบคุมได้

3. ดังนั้น ตามข้อ 1. และ 2. ในขณะนี้ การครอบครองสิงโต จึงยังไม่มีความผิด

4. เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการอนุญาตให้แจ้งครอบครองสิงโต หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสิงโตหรือซากสิงโตดังกล่าว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 19 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. สิงโตได้กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการแจ้งและการครอบครอง ซึ่งสัตว์ป่าควบคุมและซากสัตวป่าควบคุม พ.ศ. 2565 หมายความว่า “สัตว์ป่าควบคุม” ซึ่งตามระเบียบนี้ต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ด้วยลักษณะสายพันธุ์มีความดุร้ายหรือด้วยลักษณะนิสัย พฤติกรรมอาจ สร้างความหวาดกลัวหรือทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของมนุษย์ได้ ดังนั้นก่อนการออกใบรับแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าควบคุมตามมาตรา 19 วรรคสอง พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบสถานที่หากเห็นว่าไม่มีสวัสดิภาพและความเหมาะสมหรือความปลอดภัยเพียงพอ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้แจ้งการครอบครอง แก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าควบคุม ภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

6. ผู้ใดประสงค์ดำเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสิงโต ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 28 หรือค้าสัตว์ป่าควบคุม มาตรา 30 จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาเสนอการออกระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติในการการแจ้งการเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าควบคุม (รวมถึงสิงโต) ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเมื่อผ่านการพิจารณา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากสิงโต อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก จึงต้องมีการพิจารณาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบ ในการอนุญาตให้เพาะพันธุ์และค้าสิงโตต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : TikTok Paga.genari

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button