ข่าว

รู้หรือไม่ กฎหมายไทย ‘เลี้ยงสิงโตได้’

คลายสงสัย กฎหมายไทยอนุญาตให้ “เลี้ยงสิงโตได้” แต่ต้องยื่นเอกสาร พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่พนักงาน ในการครอบครองสัตว์ป่าควบคุม พร้อมปฏิบัติตามตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด

เปิดข้อกฎหมายไทยอนุญาตให้ “เลี้ยงสิงโตได้” หลังจากเมื่อวันพุธที่ 1 มีนาคม 2566 มีข่าวกรณี พ.ต.ท.ชุมพล แสนวิชัย รอง ผกก.ป.สภ.หนองปรือ ชลบุรี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านในละแวกนั้นว่ามีชาวต่างชาติได้เลี้ยงสิงโตแบบปล่อยให้เดินภายในบ้านดังกล่าว ซึ่งเกรงว่าอาจเกิดอันตรายต่อชาวบ้านและเด็กเล็ก

อย่างไรก็ตาม จากการที่ทีมงาน Thaiger ได้ตรวจสอบข้อมูลเรื่อง กฎหมายการขออนุญาตเลี้ยงสิงโต หรือสัตว์ป่าควบคุมพบว่าตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 โดยกำหนดให้สิงโต (Panthera Leo) เป็น “สัตว์ป่าควบคุม” หรือ “ซากสัตว์ป่าควบคุม” ที่ต้องแจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง กำหนดระยะเวลาการแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าควบคุม ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำ ประกาศเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565

ซึ่งมีผลใช้บังคับใช้เมื่อพ้น 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้กำหนดให้ผู้มีสิงโต (Panthera Leo) ไว้ในครอบครอง ให้แจ้งการการครอบครองภายในระยะเวลาเก้าสิบวัน นับแต่ประกาศนี้ใช้บังคับ โดยมีขั้นตอนปฏิบัติแจ้งการครอบครองสิงโตต่อเจ้าพนักงานตามนี้

กฏหมาย เลี้ยงสิงโต ในไทย

เปิดขั้นตอน “การเลี้ยงสิงโต” ตามกฎหมายไทย

สำหรับวิธีปฏิบัติการขออนุญาตเลี้ยงสิงโต ตามข้อกำหนดกฎหมายในประเทศไทย มีขั้นตอนทั้งหมด 6 ข้อ ประกอบด้วย

  1. ผู้มีสิงโตไว้ในครอบครองมาก่อนวันที่ประกาศ (18 ตุลาคม 2565) ให้แจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2565-16 มีนาคม 2566)
  2. ผู้มีสิงโตไว้ในครอบครองหลังประกาศ (18 ตุลาคม 2565) สามารถแจ้งครอบครองได้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยต้องมีเอกสารหลักฐานการได้มาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เช่น ใบนำเข้า ใบกำกับการจำหน่าย หรือใบเสร็จจากร้านค้า เพื่อยืนยันการได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ไม่สามารถใช้บันทึกแจงรายละเอียดการได้มาซึ่งสัตว์ป่าควบคุมหรือซากสัตว์ป่าควบคุมได้
  3. ดังนั้น ตามข้อ 1. และ 2. ในขณะนี้ การครอบครองสิงโต จึงยังไม่มีความผิด
  4. เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการอนุญาตให้แจ้งครอบครองสิงโต หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสิงโตหรือซากสิงโตดังกล่าว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 19 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  5. สิงโตได้กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการแจ้งและการครอบครอง ซึ่งสัตว์ป่าควบคุมและซากสัตวป่าควบคุม พ.ศ. 2565 หมายความว่า “สัตว์ป่าควบคุม” ซึ่งตามระเบียบนี้ต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ด้วยลักษณะสายพันธุ์มีความดุร้ายหรือด้วยลักษณะนิสัย พฤติกรรมอาจ สร้างความหวาดกลัวหรือทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของมนุษย์ได้ ดังนั้นก่อนการออกใบรับแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าควบคุมตามมาตรา 19 วรรคสอง พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบสถานที่หากเห็นว่าไม่มีสวัสดิภาพและความเหมาะสมหรือความปลอดภัยเพียงพอ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้แจ้งการครอบครอง แก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าควบคุม ภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  6. ผู้ใดประสงค์ดำเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสิงโต ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 28 หรือค้าสัตว์ป่าควบคุม มาตรา 30 จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาเสนอการออกระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติในการการแจ้งการเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าควบคุม (รวมถึงสิงโต) ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเมื่อผ่านการพิจารณา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากสิงโต อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก จึงต้องมีการพิจารณาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบ ในการอนุญาตให้เพาะพันธุ์และค้าสิงโตต่อไป

กฏหมาย เลี้ยงสิงโต ในไทย สรุป

สรุปวิธีการขออนุญาตเลี้ยงสิงโต ต้องทำอย่างไรบ้าง

เคาะข้อสรุปมาให้ 3 ข้อ แนวทางการแจ้งครอบครองสิงโต หรือ สัตว์ป่าควบคุม มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. มีพื้นที่เพียงพอต่อการเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ 4*4 เมตร และคสรทีพื้นที่ให้น้องได้วิ่งเล่น น้องจะได้ไม่เคลียด
  2. ต้องซื้ออย่างถูกกฎหมาย ซื้อมาจากฟาร์มที่มีใบอนุญาต พอมีอายุ 1-2 เดือน ก็สามรถนำไปเลี้ยงได้ โดยฝังไมโครชิพ เพื่อไปทำการขอใบครอบครองกับกรมไซเตส
  3. เงินในกระเป๋าต้องพร้อม เพราะค่าตัว ค่าอาหาร ไหนจะค่าอื่นๆ จัดเตรียมพื้นที่ นับเป็นจำนวนเงินที่มากพอควร พร้อมดูความเหมาะสมของสถานที่

เปิดราคา “สิงโต” หรือ “สิงโตขาว” ที่ขายในประเทศไทย

สำหรับ ลูกสิงโตขาว อายุ 15 วัน ถึง 30 วัน ราคาเริ่มต้น 550,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท (อยู่ที่เกรดสี และความขาว) ส่วนลูกสิงโตสีน้ำตาล ราคาเริ่มต้น 300,000 บาท ลูก “ไลเกอร์” หรือสิงโตผสมพันธุ์ เสือโคร่ง มีราคาเริ่มต้น 2,000,000 บาท

สำหรับสิงโตสีขาวตาฟ้า ราคาเริ่มต้น 2ล้านกว่าบาทต่อตัว และสุดท้ายเสือผสมสิงโต ราคาเริ่มต้น 2ล้านกว่าบาทต่อตัว อย่างไรก็ตาม ราคาที่นำเสนอข้างต้นเป็นราคาโดยเฉลี่ยขึ้นอยู่กับสี รูปร่าง และปัจจัยการตลาดในแต่ละช่วงเวลา

อ้างอิง : 1 2 3

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button