สรุปกฎระเบียบข้าราชการในอดีต “ทำไมคุณครูไทยต้องอยู่เวร” หรือ “นอนเวรกลางคืน” เพื่อเฝ้าดูแลความปลอดภัย หรือ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ครู ทำเกินขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ มีโอกาสประสบเหตุอันตรายจากภัยวิกาล
หน้าที่หลักของ ครูไทย นอกเหนือจากการสอนหนังสือและให้คำปรึกษานักเรียนแล้ว คือการต้อง “อยู่เวร” หรือ “นอนเวรโรงเรียนกลางคืน” ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ บางครั้งยังต้องมาเข้าเวรกลางคืนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เสาร์-อาทิตย์ ทั้งที่โรงเรียนและสถานศึกษาส่วนใหญ่มีการจ้าง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) และติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยอื่น ๆ เช่น กล้องวงจรปิด สัญญาณกันขโมย ประตูรั้วเหล็กสูงใหญ่ ฯลฯ แต่ท้ายที่สุดภาระก็ต้องตกเป็นของครู ที่ต้องมาเฝ้าเวรอยู่ดี
สาเหตุทำไม “ครูไทย” ต้องอยู่เวรกลางคืน ทั้งที่มี รปภ. อยู่แล้ว
ผู้ที่ประกอบอาชีพข้าราชการครูไทยจะทราบกันดีว่า การเข้าเวร หรือ นอนเวรกลางคืนที่โรงเรียน เป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เพื่อเฝ้าทรัพย์สินทางราชการ ตลอดจนดูแลความปลอดภัยอื่น ๆ ซึ่งโรงเรียนจะมีที่พักครูเวรเป็นสวัสดิการ ตามงบประมาณที่โรงเรียนนั้น ๆ จัดสรรมาให้
ทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งจะมีที่พักครูเวรแตกต่างกันออกไป บ้างก็เป็นห้องพักดีประดุจโรงแรม ส่วนบางแห่งก็เป็นตู้นอนไร้ซึ่งความปลอดภัยและการป้องกันใด ๆ จากผู้ไม่หวังดียามค่ำคืน
อย่างไรก็ตาม จากข้อสงสัยดังกล่าว ทำให้มีการอธิบายสาเหตุที่ครูเวรต้องเข้ากะกลางคืนเพื่อเฝ้ายาม จากกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์ Pantip เมื่อปี 2562 เอาไว้ว่า ครูเวรเป็นระเบียบข้าราชการแต่โบราณ
เนื่องจาก ในอดีตขโมขและโจร ชุกชุมเยอะในยามค่ำคืน โรงเรียนบางแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ จึงทำให้ต้องออกกฎระเบียบ ให้ข้าราชการมีหน้าที่ เข้าเวรเพื่อรักษาความปลอดภัย และดูแลทรัพย์สินข้าราชการของโรงเรียนด้วย
ทั้งนี้ การอยู่เวรกลางคืน ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ ข้าราชการครู จึงไม่มีค่าตอบแทน และไม่มีอะไรมาการันตีความปลอดภัยของคุณครูจากการเฝ้าเวรกลางคืน
หน้าที่ของ “ครูวร” กลางวัน-กลางคืน
จากตัวอย่างคำสั่ง เรื่อง แต่งตั้งเวรรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ (โรงเรียน) ประจำปี 2560 ของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ระบุ บทบาทหน้าที่ของครูเวรประจำวัน เอาไว้ดังนี้
1. บทบาทหน้าที่ของครูเวรประจำวันกลางวัน
1. เวลามาปฏิบัติหน้าที่เวรประจำวันตอนเช้า เวลา 06.00 น.
2. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ในจุด หรือ บริเวณต่างๆที่ ประตู 1 , 2 และ 3
3. ตรวจสอบความสะอาดเรียบร้อยทั่วไปทั้งภายในและนอกสถานศึกษา รวมทั้งตรวจตราดูแลการทิ้งขยะของ นักเรียนให้ถูกต้อง
4. ตรวจสอบความเรียบร้อยของปลั๊กไฟ, สวิตซ์ไฟฟ้า รวมถึงก๊อกน้ำหากพบว่ามีการเปิดไฟหรือน้ำทิ้งไว้ให้ปิด ทันที
5. ดูแลความปลอดภัยของนักเรียนบริเวณทั่วไปในช่วงเช้า พักกลางวันและหลังเลิกเรียน หากพบว่านักเรียน เจ็บป่วย ได้รับอุบัติเหตุและอื่นๆแล้วแต่กรณี โดยให้ติดต่อครูประจำชั้น หรือประสานผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อ นำส่งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้สถานศึกษา
6. ตรวจตราหรือว่ากล่าวตักเตือนนักเรียนที่กระทำผิดระเบียบของสถานศึกษา และแจ้งให้ครูปรึกษาหรือฝ่าย ปกครองหรือผู้ที่ผู้อำนวยการมอบหมายเพื่อพิจารณาโทษ ควบคุมสัญญาณเข้าเรียน พัก และเลิกเรียนตามที่ โรงเรียนกำหนดรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่เวร จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ลงในสมุดบันทึกประจำวัน
7. ให้เข้าประจำจุดต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายในตอนเย็น หลังเลิกเรียนให้ตรงเวลา โดยดูแลนักเรียนออก จากโรงเรียน ยานพาหนะของผู้ปกครองให้จอดและดับเครื่องยนต์ตามที่โรงเรียนก าหนด ตลอดจนเน้นใน เรื่องการทำความเคารพ และระเบียบวินัย หมดเวลาของการปฏิบัติหน้าที่เวรประจำวันเวลา 18.00 น.
8. ปฏิบัติ หน้าที่เวรประจำเวร เวรวันหยุด ด้วยความรับผิดชอบ ในกรณีไม่มาโรงเรียนควรแจ้งให้ผู้ตรวจเวร หรือผู้ที่รับผิดชอบตามลำดับ และรีบรายงานผู้บริหารทราบโดยด่วน
2. บทบาทหน้าที่ของครูเวรกลางคืน
1. ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่แต่งตั้งให้ข้าราชการครูปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาสถานที่และอยู่ในสถานที่ ที่ได้กำหนด
2. จะต้องระวังทรัพย์สิน อาคารสถานที่ สาธารณูปโภคของโรงเรียน ให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ หากมี เหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นจะต้องป้องกันจนสุดความสามารถ และแจ้งให้ผู้บริหารทราบโดยด่วน
3. ผู้อยู่เวร จะออกจากสถานที่เขตความรับผิดชอบได้ต่อเมื่อ ผู้อยู่เวรต่อ มารับหน้าที่แล้ว
4. ผู้อยู่เวรจะต้องถือเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยเฉพาะ ในกรณีลาหรือไปราชการจะต้องเสนอหรือแต่งตั้ง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้รักษาการอนุมัติ
5. ผู้อยู่เวรจะต้องส่งสมุดบันทึกให้เวรต่อไป และจะต้องบันทึกการปฏิบัติหน้าที่ โดยลงชื่อผู้อยู่เวรให้ครบ และมอบหมายหน้าที่ให้เรียบร้อย
6. ในกรณีเปลี่ยนแปลงเวร ผู้ขอเปลี่ยนเวรต้องทำหนังสือขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าก่อนการอยู่เวร
7. ปฏิบัติ หน้าที่เวรกลางคืน เวรวันหยุด ด้วยความรับผิดชอบ ในกรณีไม่มาโรงเรียนควรแจ้งให้ผู้ตรวจเวร หรือ ผู้ที่รับผิดชอบตามลำดับ และรีบรายงานผู้บริหารทราบโดยด่วน
8. ปฏิบัติหน้าที่เวรกลางคืนร่วมกับนักการภารโรง ควบคุมและดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนักการภารโรง โดย ปิด-เปิดไฟภายในและภายนอกอาคารเรียน อาคารเอนกประสงค์ตามที่กำหนดโดยเฉพาะไฟฟ้าแสงสว่าง ภายในโดมหน้าเสาธง ตั้งแต่เวลา 18.00 น – 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้นและงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย
9. การปฏิบัติหน้าที่เวร เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบตามค าสั่งของโรงเรียนที่ได้แต่งตั้งไปแล้วผู้ไม่มาปฏิบัติ หน้าที่จะมีความผิดและรับโทษทางวินัย หากเกิดความเสียหายกับทางราชการ
10. ทุกครั้งที่มาอยู่เวร จะต้องลงบันทึกในสมุด หากไม่บันทึกถือว่าไม่มาปฏิบัติหน้าที่
ความคิดเห็นเกี่ยวกับ การเข้าเวรของครูไทย
ปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงว่า ควรมีครูเวรแบบเช่นดังเดิมเหมือนที่ทำมาตั้งแต่โบราณ หรือปรับเปลี่ยนขอบเขตความรับผิดชอบ และหาทางแก้ไขแนวทาง
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยให้กับการเข้าเวรของคุณครูมากยิ่งขึ้น โดยความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่ยังอยากให้รักษากฎระเบียบเดิมเอาไว้ แม้ว่าโลกมันจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม ส่วนฝ่ายที่มองว่าควรปรับให้เข้ากับบริบทของยุคปัจจุบัน
สำหรับ ผู้ที่แสดงความคิดเห็นยังอยากให้มีครูเวร เสนอว่า ควรมีครูเวร เพราะจะได้รับเรื่องแจ้งเหตุและทำหนังสือรายงานข้าราชการได้โดยตรง โดยมองว่าหากจากพนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่สามารถรับผิดชอบงานด้านสารบัญได้อย่างเป็นระเบียบ และครูเวรควรอยู่ประจำเพื่อมีบุคคลอื่นเข้ามาติดต่อธุระต่าง ๆ
ส่วนกระแสของคนส่วนใหญ่ที่เห็นว่าควรปรับปรุง ระบบครูเวร มองว่าเป็นปัญหาของกระบวนการทางราชการ เพราะหน้าที่หลักของครูคือ การสอนนักเรียน ไม่ใช่มาเป็นการ์ดเฝ้าสถานที่ ต่างจากโรงพยาบาลที่มีหมอเวร เพราะต้องเตรียมความพร้อมรับคนเจ็บไข้ได้ป่วย 24 ชั่วโมง
ส่วนโรงพักต้องมีตำรวจเวรเพื่อรับเรื่องแจ้งเหตุภัยต่าง ๆ เช่นกัน ทว่าโรงเรียนไม่ได้ต้องเตรียมความพร้อมสอนนักเรียน 24 ชั่วโมง เพราะคงไม่มีนักเรียนมาขอให้สอนในตกดึก ทุก ๆ วัน นั่นเอง
ข่าวครูเวร จ.เชียงราย โดนโจรบุกทำร้าย
วันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 13.30 น. สมาคมกู้ชีพธรรมนันท์ เชียงราย ได้รับแจ้งเหตุ มีคนร้ายบุกทำร้ายร่างกายครูผู้หญิงที่อยู่เวร ภายในโรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ม.4 ตำบลดอยลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จนได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจึงรุดไปช่วยเหลือ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย
ผู้บาดเจ็บทราบชื่อคือ นางอัจราภรณ์ อายุ 41 ปี ครูประจำชั้น ป.2 ได้รับบาดเจ็บปากแตก มีแผลฟกช้ำบริเวณใบหน้าและลำตัว กู้ภัยนำส่งตัวส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อรักษาตัวเป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปถึง
ล่าสุด สมาคมกู้ชีพธรรมนันท์ เชียงราย รายงานว่า สามารถจับกุมตัวคนร้ายได้แล้ว เมื่อเวลาประมาณ 17.40 น. หลังเจ้าหน้าที่สืบสวน สภ.เมืองเชียงราย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฏหมาย
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบข้าราชการของครูเวร จนเกิดเป็นกระแสร้อนแรงบนสื่อโซเชียลอีกครั้ง เพราะการมีครูเวรไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความปลอดภัยในโรงเรียนทั้งของครูและนักเรียนตลอดระยะเวลาที่มีกฎระเบียบนี้ควบคุมนั่นเอง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง : หน้าที่ครูเวร, ครูสอนคอม