สาวงงตาแตก ส่งอีเมลหา ‘กองทัพเรือ’ ไม่ได้ เว็บจับ “สัตหีบ” เป็นคำหยาบ
พลังประมวลผล แห่งปัญหาประดิษฐ์ สาวอยากช่วยสุนัข ส่งอีเมลหากองทัพเรือ แต่ถูก AI ตรวจจับ สัตหีบ เป็นคำหยาบ สุดท้ายต้องยอมผิดหลัก ราชบัณฑิตยสถาน แผลงเป็น สัตฮีบ ก่อนวอนกองทัพ หาคนมาช่วยรับโทรศัพท์ในหน่วยงานด่วน
งานนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน มีโกรธ หลังไม่นานนี้ บนโลกโซเชียลมีการออกมาเปิดเผยกรณี หญิงรายหนึ่งต้องการช่วยสุนัขจรจัดจึงพยายามติดต่อไปยัง “กองบัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ” ตั้งอยู่ที่ 2040 หมู่ 1 ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี แต่ด้วยการที่ยกหูโทรศัพท์ไปหลายครั้ง แต่ไม่มีความเคลื่อนไหวตอบกลับจากปลายสายซึ่งเป็นหน่วยงานราชการไทย
สุดท้ายหญิงสาวเจ้าของเรื่อง ต้องใช้วิธีเขียนจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือ “อีเมล” ไปให้กับหน่วยงานกองทัพเรือ สัตหีบ
แต่ต่อมา ปรากฎอีเมลที่สาวคนนี้ส่งไปถูกการประมวลผลเอไอ (AI) หรือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ของทางภาครัฐ “ตีกลับ” ปฏิเสธการส่งเอกสารออนไลน์ที่ต้องการแจ้งเรื่องที่จะช่วยสุนัข เนื่องจากตรวจจับพบ “คำหยาบคาย” จึงไม่อาจดำเนินการด้วยระบบอัตโนมัติ ส่งเรื่องต่อให้กับหน่วยงานต้นสังกัดที่เกียวข้องได้
ข้อความในเฟซบุ๊กเจ้าของเรื่องต้นทางเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดไว้คร่าว ๆ ดังนี้
“ทำไมต้องเจออะไรแบบนี้ตลอดเลย วันหนึ่งหลายอารมณ์มาก จะติดต่อหน่วยราชการก็ยากแสนยาก พอจะส่งอีเมลก็เจอแบบนี้ คือ สัตหีบ ก็บอกมีคำหยาบ ก็ต้อง สัตฮีบ โอ๊ย ! โทรไปหลายครั้ง หลายที่ตั้งแต่สัตฮีบจนถึงกองทัพเรือที่ กทม. เอาจริง ๆ พวกพี่ควรช่วยแบ่งคนมารับโทรศัพท์ก่อน”
มาถึงบรรทัดนี้ หากใครยังไม่เข้าใจว่า ทำไม สัตหีบ ถึงยังเป็นคำหยาบจนเจ้าของเรื่องต้องเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษร “ฮ.นกฮูกตาโต” ก็ขออนุญาต กราบเรียนอีกครั้งว่า เพราะเอไอคิดว่า “สัตหีบ” ถ้าเคาะเว้นวรรคคำว่า “สัต” กับ ตัวอักษร บ.ใบไม้ ในรูปคำเต็ม ก็จะเหลือแค่ตัวอักษร ห.หีบ กับสระอี อีกหนึ่งตัว กลายเป็นคำที่สื่อถึงความหมายของอวัยวะเพศหญิง นั่นเอง
นิทานเรื่องนี้จึงสอนให้รู่ว่า บางทีถูกหลักเอไอก็ใช่ว่า จะถูกหลักของ “ราชบัณฑิตยสถาน” ไม่เชื่อก็ถามเจ้าของเรื่องส่งอีเมลหากองทัพเรือที่สัตหีบนี้ได้เลย.