ข่าว

พบ “วาฬโอมูระเผือก” แถวทะเลภูเก็ต นักวิชาการ เผย ดับเบิลหายาก

นักท่องเที่ยว พบ วาฬโอมูระเผือก บริเวณทะเลภูเก็ต นักวิชาการคาด เป็นตัวแรกของไทยและของโลก หายากแบบดับเบิล มีเงินใช่ว่าจะเจอ

มีเรื่องราวดี ๆ ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี หลังจากนักท่องเที่ยวท่านหนึ่งได้เดินทางไปท่องเที่ยวทางภาคใต้ บริเวณเกาะพีพี และถ่ายคลิปวาฬเผือกตัวใหญ่ไว้ได้ หลังจากโพสต์ลงโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นกระแสฮือฮา เพราะวาฬมีลักษณะและสีที่แปลกตาต่างจากวาฬทั่ว ๆ ไป

Advertisements

ต่อมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ยืนยันว่า วาฬในคลิปคือ วาฬโอมูระเผือก เป็นวาฬเผือกรายแรกของไทย ทั้งเป็นรายแรกของโลกอีกด้วย ระบุว่า

“ข้อมูลยืนยันชัดเจนพร้อมระบุพิกัดโดยเจ้าของคลิป เรามีวาฬเผือกรายงานแรกของไทย และน่าจะเป็นวาฬโอมูระเผือกรายงานแรกของโลกด้วยครับ

วาฬโอมูระต่างจากบรูด้า ชัดสุดคือสันบนหัว โอมูระมี 1 สัน บรูด้ามี 3 สัน ภาพจากคลิปพอบอกได้ว่า วาฬเผือกตัวนี้มีสันเดียว เป็นวาฬโอมูระ หมายความว่าเป็นดับเบิ้ลหายาก

ลำพังวาฬโอมูระ ถือว่าหายากในโลกอยู่แล้ว พบเฉพาะเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงตอนใต้ญี่ปุ่น ในไทยมีรายงานน้อยกว่าบรูด้าอย่างเห็นได้ชัด ปรกติจะเจอฝั่งอันดามัน ในอ่าวไทยมีบ้างแต่น้อยกว่า และอยู่ลงไปทางใต้ ไม่ค่อยเข้ามาในอ่าวไทยตอนใน

โอกาสที่เราลงเรือดูวาฬแถวสมุทรสงคราม เพชรบุรีแล้วเจอวาฬโอมูระแทบไม่มี ส่วนใหญ่มักเป็นนักท่องเที่ยวไปสิมิลัน สุรินทร์ พีพี เกาะรอบภูเก็ต ที่รายงานเข้ามา

Advertisements

เมืองนอกก็ยิ่งหายากครับ อันที่จริงเมืองไทยที่ว่าหายาก ยังรายงานการพบเจอเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แล้วถ้าเป็นโอมูระเผือกล่ะ โอย ผมไม่รู้จะบอกยังไง มีเงินร้อยล้านพันล้านอยากเจอก็ไม่ใช่จะได้ ต้องใช้โชคล้วน ๆ ประเภทหนึ่งในสิบล้านหรือกว่านั้น จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีรายงานแรกของโลกในบ้านเรา

วาฬโอมูระเผือก
ภาพจาก Facebook : ThaiWhales

ข้อมูลจากคุณก้อย เจ้าของคลิป ระบุรายละเอียดชัดเจน

วันที่พบ : วันจันทร์ที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 16.00 น.
สถานที่พบ : ระยะประมาณ 9 กม. ทางใต้ของเกาะคอรัล (เกาะเฮ) จ.ภูเก็ต (ได้พิกัดส่ง ทช.แล้ว)
เรือที่พบ : เรือ Happy Ours
รายละเอียดจากคุณก้อย : “พบวาฬสองตัวที่คิดว่าน่าจะเป็นวาฬชนิดเดียวกัน ว่ายอยู่ด้วยกัน ตัวหนึ่งมีสีขาวสวยงาม อีกตัวหนึ่งสีปกติ บ้านเรา (คุณก้อย) ตั้งชื่อน้องว่า “ถลาง” สำหรับวาฬสีขาว และ “บูกิต” สำหรับวาฬสีปกติ

หากน้อง ๆ ยังอยู่กับเรา โดยเฉพาะน้องถลาง รับประกันว่าอันดามันดังระเบิด ต่อให้ป๋านักดูวาฬระดับโลกก็ยังต้องอยากมาเห็น

หากพบเจอน้องอีก รายงานกรมทะเลทันทีครับ ที่สำคัญ อย่าเข้าไปใกล้เกินไป รักษาระยะห่าง ดับเครื่อง อย่าวิ่งเรือตัดหน้า ฯลฯ พวกเราอยู่บนแผ่นดิน ก็ช่วยกันลดขยะ จะได้ไม่ไหลลงทะเลแล้ววาฬเผลอกินเข้าไป ช่วยกันคนละไม้ละมือ วาฬเผือกจะได้อยู่กับเรานาน ๆ

หากเราเจอน้องบ่อย ๆ จนแน่ใจสถานที่อาศัย อยากจะเสนอให้เป็นสมบัติทะเลชาติด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่บอก นี่ไม่ใช่เรื่องปรกติ นี่คืออะไรที่หายากจริง…ยิ่งกว่าจริง

ขอบคุณ คุณก้อย Happy Ours Phuket Charter Team รายละเอียดเพิ่มเติม อ่านที่ ThaiWhales ช่วยประสานงานจนได้ข้อมูลสำคัญยิ่งของทะเลไทย ดีใจเอ๊ยดีใจครับ”

นับเป็นการค้นพบสัตว์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลภูเก็ตที่ยิ่งใหญ่มากจริง ๆ เพราะนอกจากจะเป็นสายพันธุ์หายากแล้ว ยังมีสีเผือกอีกด้วย หากนักท่องเที่ยวได้ไปเยี่ยมชมทางภาคใต้และพบวาฬโอมูระสีเผือก ทุกท่านอย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้วย

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button