เศรษฐกิจ

เปิดรายชื่อ 5 จังหวัดนำร่อง เปิดผับได้ถึงตี 4 หลัง ม.ท. อนุมัติ เริ่ม 15 ธ.ค. นี้

เปิดรายชื่อ 5 จังหวัดนำร่อง ที่สามารถเปิดสถานบริการได้จนถึงตี 4 ตามร่างกฎกระทรวงมหาดไทย พร้อมมาตรการคุมเข้มการขายและดื่มแอลกอฮอล์

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 เป็นวันแรกที่ 5 จังหวัดนำร่อง จะสามารถเปิดผับได้จนถึงตี 4 หลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดและปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 เป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ต้องรอประกาศราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยคาดว่าจะบังคับใช้ตามกรอบเวลาที่นายกเคยประกาศไว้ว่าจะเริ่มต้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยรายชื่อ 5 จังหวัดนำร่องที่สามารถเปิดผับได้ถึงตี 4 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ชลบุรี, ภูเก็ต และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

5 จังหวัดนำร่อง เปิดผับได้ถึงตี 4

สำหรับมาตรการขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 นั้น ส่งผลไปยังถึงสถานบริการที่ตั้งอยู่ภายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมทั่วประเทศด้วย ทำให้สามารถเปิดบริการได้ถึง 4.00 น. ของวันรุ่งขึ้นได้เช่นกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ อีกทั้งตามกฎกระทรวงดังกล่าว จะขยายเวลาให้สถานบริการทั่วประเทศสามารถเปิดบริการในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 (วันสิ้นปี) ไปจนถึง 6.00 น. ของเช้าวันที่ 1 มกราคม 2567 (วันปีใหม่) อีกด้วย

นอกจากนี้ มติคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เห็นชอบมาตรการรองรับการขยายเวลาเปิดสถานบริการ ซึ่งได้จัดทำคำแนะนำสำหรับสถานบริการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเข้มงวดในมาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแก่บุคคลดังต่อไปนี้

  • บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
  • บุคคลที่มีอาการมึนเมาสุราจนครองสติไม่ได้

พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์

รวมถึงผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกราย ให้สถานบริการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทางลมหายใจ ก่อนอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการ ในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหะนะ ได้รับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดทางลมหายใจ พบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 mg% ให้สถานบริการจัดหาที่พักคอย และอำนวยความสะดวก เพื่อรอให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงต่ำว่า 50 mg% จึงอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการ

หากในกรณีที่ ผู้ขับขี่ยานพาหนะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 mg% ไม่ยินยอมพักคอย ให้สถานบริการประสานให้เพื่อนหรือญาติของผู้ใช้บริการขับขี่แทน หรือจัดบริการยานพาหนะเพื่อส่งลูกค้าเดินทางกลับ โดยคิดค่าบริการจากผู้ใช้บริการ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button