ข่าว

ตอบให้แล้ว ภาชนะพลาสติกอุ่นอาหารในไมโครเวฟได้ไหม อันตรายแค่ไหน ?

ภาชนะพลาสติกอุ่นอาหารใน เตาอบไมโครเวฟ อันตรายจริงหรือไม่ อาจารย์เจษฎา พาไขข้อมูลงานวิจัยทดลองแล้ว สารอันตรายเสี่ยงปนไปกับอาหารเข้าสู่ตับ ไต แค่ไหน

จากกรณีที่โลกโซเชียลแห่กันแชร์ข้อมูล โดยเป็นการออกมาเตือนผู้คนที่นิยมอุ่นอาหารรับประทานเองให้หลีกเลี่ยง การใช้ภาชนะพลาสติกมาอุ่นอาหารในเครื่องอบไมโครเวฟ ล่าสุด อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้อออกมาอธิบายด้วยการโพสต์ภาพและข้อความลงในเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ระบุ งานทดลองทำให้เซลล์ตับนั้นเสียหายได้ แต่ไม่ได้มีการทดลองในเซลล์ไต

Advertisements

ขณะเดียวกัน อ.เจษฎ์ ยังให้ข้อมูลเสริมอีกว่า งานวิจัยดังกล่าวมีประโยชน์ในเชิงย้ำเตือนว่า “ไม่ควรให้ความร้อนสูง โดยตรง นานๆ กับภาชนะพลาสติก” ส่วนที่กังวลว่าจะมีสารอันตรายปะปนกับอาหารเข้าไปสู่ตับหรือไต สามารถซึมเข้าในอวัยวะที่กล่าวมาได้ แต่สุดท้ายก็จะถูกขับถ่ายออกไปกับการขับถ่ายอุจจาระอยู่ดี

ข้อความอธิบายจากโพสต์ของอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ประจำมหาวิทยาลัยชื่อดัง ระบุ “ไม่ได้มีรายงานวิจัย ว่า “การใช้เตาอบไมโครเวฟมาอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติก (โดยเฉพาะชนิดที่ระบุว่า ใช้กับเตาไมโครเวฟได้) จะทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้” นะครับ เคยโพสต์อธิบายเรื่องนี้ไปอย่างละเอียดแล้ว (อ่านรีโพสต์ด้านล่าง) ว่างานวิจัยที่มีการหยิบมาอ้างกัน แล้วเกิดความหวาดกลัวขึ้นว่า “การอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติก แม้จะเป็นชนิดที่บอกว่า microwavable แล้ว ก็ยังเป็นอันตราย จากการได้รับไมโครพลาสติก เข้าไปทำลายตับทำลายไต” นั้น จริง ๆ แล้ว ยังไม่ได้มีงานวิจัยอะไรทำนองนั้นออกมาครับ”

“อธิบายย่อ ๆ คือ งานวิจัยของจริงนั้นเป็นการเอาถ้วยพลาสติกสำหรับอาหารเด็กมาใส่น้ำและสารละลายกรด แล้วเอาไปไปเวฟที่ความร้อนสูง 1000 วัตต์นาน 3 นาที จึงพบพวกไมโครพลาสติก/นาโนพลาสติก ออกมาอยู่ในน้ำร้อน และถ้าเอาไมโครพลาสติก/นาโนพลาสติกพวกนี้ไปใส่เซลล์ตับที่เลี้ยงไว้ในจาน จะทำให้เซลล์ตับนั้นเสียหายได้ (ไม่ได้มีการทดลองกับเซลล์ไต)”

“แต่นั่นไม่ได้แปลว่าในโลกความจริงแล้ว ไมโครพลาสติกที่อาจเกิดขึ้นเมื่อให้ความร้อนสูงกับภาชนะพลาสติก และปนกับอาหาร จะเข้าไปสู่ตับหรือไตคนเราได้ครับ หลัก ๆ คือมันก็จะถูกขับถ่ายออกไปกับอุจจาระนั่นเอง”

“งานวิจัยดังกล่าวจึงมีประโยชน์ในเชิงการย้ำเตือนว่า “ไม่ควรให้ความร้อนสูง โดยตรง นานๆ กับภาชนะพลาสติก” และแนะนำกันว่า “ควรจะอุ่นหรือประกอบอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ เฉพาะในภาชนะที่ทนความร้อนสูงได้ อย่างเครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง และไม่ควรใช้พลาสติกคุณภาพต่ำกับเตาไมโครเวฟ” แค่นั้นเองแหละครับ”

Advertisements

สำหรับใครที่ยังคาใจในอ่านรายละเอียด ก้ขอนุญาตตามไปอ่านรีโพสต์ฉบับเต็ม ซึ่งอาจารย์เจษฎ์ ได้ลงอธิบายไว้ในเฟซบุ๊กเพจต้นทางกันได้เลยที่นี่ (คลิก).

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button