ข่าว

อ.เจษฎ์ แจงยิบ สาร E-150d ในน้ำอัดลม ก่อมะเร็งจริงหรือไม่

อ.เจษฎ์ ไขข้อข้องใจ หลังโซเชียลแห่แชร์ข่าวน้ำอัดลมยี่ห้อดัง มีสาร E-150d ก่อมะเร็งในคน เฉลยคำตอบไม่เป็นความจริง

หลังจากที่โลกออนไลน์มีการแชร์ข่าวน้ำอัดลมยี่ห้อดังมีสาร E-150d ปรากฏอยู่ในฉลากข้อมูลโภชนาการ พร้อมทั้งอ้างว่าจากการตรวจที่ดำเนินการโดย IARC หรือหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลกระบุว่าสารชนิดดังกล่าวก่อมะเร็งในคน

ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความอธิบายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาร E-150d ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยตอบคำถามว่าสารดังกล่าวไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในคนแต่อย่างใด โดยมีรายละเอียดดังนี้

“IARC ไม่ได้บอกว่า สีคาราเมล E-150d เป็นสารก่อมะเร็งในคน นะครับ

มีคนส่งรูปนี้มาให้ดู พร้อมกับคำถามว่า จริงหรือไม่ ? ที่สาร E-150d เป็นสารก่อมะเร็งในคน ตามการตรวจสอบที่ดำเนินการโดย IARC ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งของ WHO (องค์การอนามัยโลก) โดยได้จำแนกสีย้อมแอมโมเนียมซัลไฟต์ (E-150d) ในกลุ่มสาร 249 ชนิดที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ !? อย่างนี้ ก็กินโคล่าไม่ได้แล้วซิครับ อาจารย์ !?

คำตอบก็คือ ไม่จริงครับ IARC ไม่ได้จัดให้สาร E-150d ซึ่งเป็นสีผสมอาหารที่ทำจากคาราเมล (คือเอาน้ำตาลมาคั่ว ให้เกิดสีน้ำตาลไหม้) เป็นสารที่อาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์

เพียงแต่ว่าในกระบวนการผลิตสารกลุ่มสีย้อมคาราเมลนี้ (มีหลายตัว) อาจเกิดสารใหม่ชื่อ 4-MEI หรือ 4-Methylimidazole ขึ้น ซึ่งตัวนี้ต่างหากที่ IARC จัดเอาไว้อยู่ในกลุ่ม 2ฺB คือ Possibly carcinogenic to humans (เช็คได้ที่เว็บ https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications)

แต่การอยู่ในกลุ่ม 2ฺB นั้น คือแปลว่า อยู่ในกลุ่มที่พอจะมีหลักฐานในสัตว์ทดลองบ้าง แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดในมนุษย์ครับ .. ซึ่งหลักฐานดังกล่าว จะมาจากการให้หนูทดลองรับสารนี้เข้าไปเยอะๆ เป็นเวลานานๆ (ทั้งที่ปริมาณที่ใส่จริงในอาหารหรือน้ำอัดลมนั้น น้อยมากๆ)

ตามข้อมูลในวิกิ (https://en.wikipedia.org/wiki/4-Methylimidazole#Safety) ระบุว่า มีการทดลองให้หนูทดลองรับสาร 4-MEI นี้ในปริมาณมาก (40 มิลลิกรัมขึ้นไป ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโล) ทุกๆ วัน เป็นเวลา 2 ปีต่อกัน จึงมีเนื้องอกที่ปอดมากขึ้น และพวกที่ได้ปริมาณมากๆๆๆ (170 ม.ก.ต่อกิโลน้ำหนักตัว) จึงจะเกิดเนื้องอก ชนิดที่นำไปสู่มะเร็งปอดได้

สาร 4-MEI อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสีผสมอาหารคาราเมล กลุ่มที่ 3 (E-150c) และกลุ่มที่ 4 (E-150d) ระหว่างการให้ความร้อนกับน้ำตาลกับกลุ่มไนโตรเจน เพื่อให้เริ่มเกิดกระบวนการสร้างคาราเมลขึ้น หน่วยงานทางอาหารของยุโรป จึงมีการกำหนดให้ระดับของสาร 4-MEI ในสีผสมอาหารคาราเมล หมายเลข E150c และ E150d ต้องมีไม่เกินกำหนด คือ ไม่เกิน 200 และ 250 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งกิโลกรัมของสีคาราเมล E150c และ E 150d ตามลำดับ (ที่ระดับความเข้มสี เท่ากับ 0.1)

ขณะที่หน่วยงานทางอาหารของสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ที่ ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของสีผสมอาหารคาราเมล .. โดยที่ FDA เชื่อมั่นว่า มันไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงเฉียบพลันอะไร จากการได้รับ 4-MEI ในเวลาอันสั้น

สำหรับประเทศไทยเรา ก็มีการอนุญาตให้ใช้สีผสมอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสีคาราเมล กันอยู่แล้ว โดยจัดเป็น “สีธรรมชาติ” ตัวอย่างเช่น ในอาหารกลุ่มขนมขบเคี้ยวนั้น อนุญาตให้ใช้สีคาราเมล รหัส INS-150d หรือสีคาราเมลกลุ่มที่ 4 ซัลไฟต์แอมโมเนียคาราเมล โดยให้มีปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้เจือปนในอาหารได้ถึง 5000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร และรหัส INS-150c หรือสีคาราเมลกลุ่มที่ 3 แอมโมเนียคาราเมล ให้มีปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้เจือปนในอาหารได้ถึง 5000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร เช่นกัน (จาก http://alimentum.fda.moph.go.th/…/Additive/CodexDetail…)

โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าสีผสมอาหาร E150d หรือ Sulfite ammonia caramel นั้นจะมีการพบสาร 4-MEI ที่มีรายการการอาจจะทำให้เกิดมะเร็งได้ในหนูทดลองก็ตาม แต่ก็ต้องเมื่อหนูทดลองนั้นได้รับเป็นปริมาณมากๆ และเป็นเวลายาวนานก็ตาม และทำให้หน่วยงานทางอาหารของประเทศต่างๆ ถือว่า สีผสมอาหารคาราเมลนี้ ยังมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ และไม่จำเป็นต้องมีคำเตือนอยู่บนฉลากสินค้า เพียงแต่บริษัทผู้ผลิตจะต้องควบคุมให้ปริมาณสาร 4-MEI ไม่มากเกินกำหนดครับ”

E-150d สารก่อมะเร็งในน้ำอัดลม

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button