ไลฟ์สไตล์

ประวัติ ‘เชฟอ้อย ยุวดี’ นักปรุงอาหาร ฝีปากจัดจ้านไม่แพ้ฝีมือ

รู้จัก เชฟอ้อย ยุวดี คือใคร ประวัติเชฟหญิงแกร่ง ฝีมือช่ำชองสไตล์ Asian Modern Cuisine ก่อนผันตัวสู่อาชีพแม่ค้าขายลูกชิ้นและก๋วยเตี๋ยวแซ่บแห้งจงอางหวงไข่

แม้จะเป็นที่รู้จักอยู่แล้วสำหรับ เชฟอ้อย ยุวดี ชัยศิริพาณิชย์ หนึ่งในเชฟหญิงแกร่งจากรายการทำอาหารที่รสมือจัดจ้านไม่แพ้ฝีปาก ซึ่งตอนนี้เชฟอ้อยก็โด่งดังมากขึ้นไปอีกในฐานะแม่ค้าที่ผันตัวมาขายลูกชิ้นทำเอง พร้อมด้วยก๋วยเตี๋ยวแซ่บแห้งจงอางหวงไข่สูตรเด็ด ที่คนรอต่อคิวยาวทุกวัน แถมด้วยลีลาการตักลูกชิ้นของเจ๊อ้อยที่ให้แบบไม่อั้นยิ่งทำให้หลายคนสมัครเข้ามาเป็นแฟนคลับของเชฟมากยิ่งขึ้น

แต่รู้หรือไม่ว่า เชฟอ้อยในวัย 52 ปี กว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหาเงินส่งตัวเองเรียนตั้งแต่จบจากประถมศึกษาปีที่ 6 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ อาศัยนอนตามป้ายรถเมล์แล้วรับจ้างสารพัดอย่าง เรียกได้ว่าทำทุกวิธีให้ตัวเองได้เรียนหนังสือ แถมยังมีเส้นทางชีวิตที่อยากเป็นเชฟอย่างแน่วแน่อีกด้วย

ประวัติ เชฟอ้อย
ภาพจาก : ยุวดี ชัยศิริพาณิชย์

ประวัติ เชฟอ้อย หญิงแกร่งที่มีความฝันอยากเป็นเชฟตั้งแต่เด็ก

สำหรับประวัติส่วนตัวของเชฟอ้อยนั้น แต่เดิมเธอชื่อ ศิริพร ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นยุวดี เมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบันอายุ 52 ปี พื้นเพเป็นคนจากจังหวัดพิษณุโลก เกิดในครอบครัวคนจีนที่ยึดคติว่าลูกผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียน เพราะเดี๋ยวก็ต้องแต่งงานมีสามีแล้ว

ช่วงชีวิตสมัยเด็กเชฟอ้อยมักจะชื่นชอบการทำอาหารเป็นพิเศษ หากถูกแม้ใช้งานให้ทำอะไรจะมีเกี่ยงงอนบ้าง แต่เมื่อเป็นเรื่องในครัวเชฟอ้อยจะขยันขันแข็งขึ้นมาทันที แต่ด้วยความเป็นลูกคนจีนถูกฝึกให้มีชีวิตอดทนกับความทรหดตั้งแต่เด็ก ทำให้หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เชฟอ้อยต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำงานหาเงินส่งตัวเองเรียน

เชฟอ้อย
ภาพจาก : ยุวดี ชัยศิริพาณิชย์

กระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา เชฟอ้อยก็ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ก่อนจะเรียนจบปริญญาโทด้านโภชนาการ ทำให้เชฟอ้อยเป็นแม่ครัวที่มีความรู้ในเรื่องของวัตถุดิบการทำอาหารอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้เชฟอ้อยก็ยังสามารถทำอาหารได้หลากหลายนานาชาติ แต่เชฟจะสนใจอาหารไทยเป็นพิเศษ โดยเชพคิดว่าอาหารไทยเป็นอาหารที่มีการปรุงรสมาอย่างดีที่สุดในโลกแล้ว

หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เชฟอ้อยก็เริ่มต้นเส้นทางอาชีฟเชฟจากการทำงานในโรงแรมห้าดาวหลายแห่ง ก่อนจะย้ายไปประจำการอยู่ที่สถานทูตไทยในอเมริกาอยู่ 2 ปี จึงทำให้เชฟอ้อยมีความรู้เรื่องอาหารที่หลากหลายมาก อีกทั้งยังเคยนำเมนูขนมครกเข้าประกวดการทำขนมนานาชาติที่อเมริกาจนได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้วด้วย

ประวัติ เชฟอ้อย
ภาพจาก : ยุวดี ชัยศิริพาณิชย์

จุดเริ่มต้นคนรู้จัก ‘เชฟอ้อย’ จากรายการแข่งทำอาหาร

ชื่อเสียงของเชฟอ้อยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการข้าร่วมรายการเกี่ยวกับอาหารหลาย ๆ รายการในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น เชฟกระทะเหล็ก หรือ Top Chef Thailand และด้วยฝีปากที่ลับคมมามากพอ ๆ กับฝีมือในการทำอาหาร ทำให้ชื่อเสียงของเชฟอ้อยยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ปัจจุบันเชฟอ้อยเป็นเจ้าของร้านอาหาร CHARM GARDEN และมีธุรกิจลูกชิ้นทำเองขายออกงานตามบูธต่าง ๆ รวมไปถึงโปรเจ็กต์ใหม่ที่เพิ่งคลอดอย่างก๋วยเตี๋ยวแซ่บแห้งจงอางหวงไข่ที่ทำคนต่อคิวยาวด้วยกระแสปากต่อปากจากการรีวิวความอร่อย ซึ่งเชฟอ้อยเคยพูดในประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจไว้ว่าเชฟไม่เคยทำอะไรเจ๊ง เพราะจะคิดคำนวณมาอย่างดีแต่แรกแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเชฟอ้อยก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการคิดคำนวณของเชฟนั้นทำให้ประสบความสำเร็จมากขนาดไหน

เชฟอ้อย
ภาพจาก : ยุวดี ชัยศิริพาณิชย์

เชฟอ้อย ขยายแฟรนไชส์ ช่วยสร้างอาชีพให้คน

หลังจากโกยชื่อเสียงและรายได้จากการทำลูกชิ้นขายเองแล้ว เชฟอ้อยได้เริ่มขยายธุรกิจไปสู่แฟรนไชส์ด้วย เหตุผลหนึ่งที่เชฟอ้อยคิดแผนขยายแฟรนไชส์ลูกชิ้นขายประจำจังหวัดเพราะต้องการช่วยเหลือให้คนจนสามารถลืมตาอ้าปากได้ โดยรายแรกที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์คือคนจากจังหวัดชลบุรี ทำให้เชฟคำนวณคิดราคาเบ็ดเสร็จค่าแฟรนไชส์จำนวน 250,000 บาท

แต่โชคร้ายที่ผู้ติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์รายนี้ประสบอุบัติเหตุทำให้ไม่สามารถเดินทางมาเรียนทำลูกชิ้นกับเชฟอ้อยได้ แต่ถึงอย่างนั้นทางเชฟอ้อยก็ยังไม่ปล่อยแฟรนไชส์นี้ต่อให้เจ้าอื่นในจังหวัดเดียวกันหากคนที่มาซื้อรายนี้ยังไม่เอ่ยปากขอยกเลิกการซื้อแฟรนไชส์ แต่ถ้ายกเลิกเมื่อไรก็จะคืนเงินมัดจำให้ด้วย

สำหรับวิธีการเลือกคนที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ เชฟอ้อยจะตัดสินใจเองว่าคนไหนเหมาะสมที่จะได้รับแฟรนไชส์ไปขายต่อ เพราะบางคนก็ขายหวังรวยเร็ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเชฟอ้อยบอกว่าของแบบนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป แรก ๆ อาจจะขายน้อย ๆ ก่อน หลังจากเชี่ยวชาญแล้วก็ค่อยขายวันละปริมาณเยอะ ๆ ได้

ทั้งนี้การซื้อแฟรนไชส์เชฟอ้อยก็ยังเลือกแค่เพียง 1 คน 1 จังหวัดอีกด้วย โดยเชฟอ้อยให้เหตุผลว่ายังไงลูกชิ้นของเชฟก็ขายได้อยู่แล้ว แค่ขายคนภายในจังหวัดก็น่าจะได้กำไรสูงมากแล้ว ดังนั้นก็ไม่ต้องหวังไปขายข้ามจังหวัด แบ่งให้เจ้าของแฟรนไชส์จังหวัดอื่นได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากบ้าง

สาเหตุที่เชฟอ้อยมีแนวคิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตักลูกชิ้นให้จำนวนมากในการซื้อหนึ่งถุง หรือการให้แบ่งกันขายแฟรนไชส์ 1 คน 1 จังหวัด เพราะอย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าเชฟอ้อยใช้ชีวิตลำบากมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ จึงทำให้เข้าใจหัวอกคนที่มีฐานะทางการเงินลำบากได้อย่างลึกซึ้ง จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้นให้มีงานมีอาชีพและมีรายได้

เชฟอ้อย
ภาพจาก : ยุวดี ชัยศิริพาณิชย์

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button