ตำรวจบุกทลาย โรงงานครีมเถื่อนไม่ได้มาตรฐาน อึ้งลูกจ้างนั่งกวนครีมกับพื้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกโรงงานเครื่องสำอางเถื่อน ตรวจพบแรงงานกวนครีมในกาละมังไม่ได้มาตรฐาน หลังจากอดีตลูกจ้างร้องเรียนได้แผลเหวอะจากโดนน้ำร้อนลวก
อดีตลูกจ้างร้องเรียนถูกน้ำร้อนลวกจนได้แผลเหวอะหวะ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งกำลังบุกทลายโรงงานเครื่องสำอางกวนครีมเถื่อน ก่อนอึ้งพบแรงงานกำลังนั่งกับพื้นกวนครีมในถังกะละมังด้วยไม้พาย และบรรจุในถังแกลลอนไม่ได้มาตรฐานสุขอนามัย ผิดจากภาพที่เคยโฆษณาไว้ในสื่อโซเชียล นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบของกลางเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายหลายรายการ
ทางด้านของ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.วิชิต ถิรขจรวงศ์ ผกก.สส.1 บก.สส.บช.น. พ.ต.อ.อดุลย์ ดอกพวง ผกก.สน.บางมดร่วมกับเจ้าหน้าที่ สืบนครบาล สน.บางมด และ อย. ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจค้นร่วมกันจับกุมตัว นายฐิติวัชร์ อายุ 63 ปี เมื่อวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่บ้านย่านฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร หลังจากตรวจพบว่ามีการขายเครื่องสำอางผิดกฎหมาย และสถานที่ผิดไม่สอดคล้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งยังได้ทำการยึดของกลางหลายรายการไม่ว่าจะเป็น กะละมังผสมผลิตภัณฑ์ผิดกฏหมาย บรรจุของเหลวพร้อมนำไปบรรจุภัณฑ์ 11 ใบ, พร้อมอุปกรณ์การผลิต จำพวก ไม้พาย , กระบวย , กะละมัง และหม้อต้ม หลายรายการ, ผลิตภัณฑ์โลชั่นนวดฝ่าเท้า 83 แกลอน, ผลิตภัณฑ์น้ำหอม เจลอาบน้ำ ผิดกฏหมาย จำนวน 580 ขวด (ผลิตในบ้าน), ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ 73 แกลอน และผลิตภัณฑ์น้ำหอม 2,976 ชิ้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระบุข้อกล่าวหาว่าบ้านเลขที่ 36/3 กับ 36/34 ได้ทำการขายเครื่องสำอางไม่จดแจ้งตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ฝ่าฝืน ม.32(1) มีโทษตาม ม.78 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่เป็นไปตามมาตรา22 วรรค2 (2) ฝ่าฝืน ม.32(4) มีโทษตาม ม.68 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับ บ้านเลขที่ 36/56 มีข้อกล่าวหาว่าเป็น สถานที่ผลิตเครื่องสำอางปฏิบัติไม่สอดคล้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต หรือนำเข้าเครื่องสำอาง พ.ศ.2561 ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 วรรคสาม มีบทลงโทษตามมาตรา 63 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
ในส่วนของ บ้านเลขที่ 36/57 .พบการผลิตเครื่องสำอางปลอม ฝ่าฝืน ม.27(2) ประกอบม.29(1) และ (4) มีบทลงโทษตามม.75 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และม.76 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามลำดับ และผลิตไม่ตรงตามที่จดแจ้ง ฝ่าฝืนม.26 มีบทลงโทษตามม.71 ต้องระวางโทษปรับสองหมื่นบาท
ฉลากแสดงข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ม.22 วรรคสอง (1) มีบทลงโทษตามม.67 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผลิตไม่จดแจ้ง ฝ่าฝืน ม.14 วรรคหนึ่ง มีบทลงโทษตามม. 62 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ไม่มีฉลากภาษาไทย ฝ่าฝืนม.22 วรรคสอง (2) มีบทลงโทษตามม.68 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ย้อนเหตุการณ์กลับไปเมื่อมีหญิงสาวอความช่วยเหลือผ่านเพจดัง และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ระบุว่าเธอถูกแผลน้ำร้อนลวกจากการทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง และได้รับเงินค่ารักษาเพียง 1,000 บาท พร้อมยื่นใบลาออกบังคับให้เธอลงชื่อ
พล.ต.ท.ธิติฯ จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ให้ความช่วยเหลือในทันที โดยจากการสืบสวนแล้วทราบว่าสภาพภายในโรงงานที่เกิดเหตุนั้นมีเป็นบ้าน 2 ชั้น จำนวน 5 คูหา สภาพคับแคบและไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยใดๆ อีกทั้งยังสืบทราบว่าเป็นโรงงานที่มีการลักลอบผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย
ขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นพบพนักงานหลายรายอยู่ในสภาพ นั่งเทผลิตภัณฑ์บรรจุลงแกลลอน ไม่สวมสิ่งป้องกันตามมาตรฐาน กวนกับไม้พายกับพื้น สภาพสกปรกไม่เหมือนกับภาพโฆษณาบนสื่อโซเชียล ที่คนงานใส่ชุดขาวสวมหมวก ถุงมือยางกันสิ่งเจือปนผลิตภัณฑ์อย่างมีมาตรฐาน
เจ้าหน้าที่จึงทำการตรวจยึดของกลางหลายรายการ ก่อนจับกุมตัว นายฐิติวัชร์ สุทธิอภิโชคชัย ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.บางมด ดำเนินคดีตามกฏหมาย และจะประสานงาน หน่วยงานแรงงาน ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ในชั้นจับกุม นายฐิติวัชร์ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พร้อมแจ้งว่าจะปรับแก้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง