เงินสมทบประกันสังคม 2567 มาตรา 33 ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 875 บาท จากเดิม 750 บาท สำนักงานประกันสังคม ชูสวัสดิการล่อใจ ได้เงินชดเชยว่างงานเพิ่มขึ้น
เงินสมทบประกันสังคม 2567 จ่ายเพิ่มกี่บาท
เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีเก่า ปีหน้าผู้ประกันตนมาตรา 33 (ม.33) ในระบบประกันสังคมทั้งลูกจ้างและนายจ้าง เตรียมรับภาระเพิ่ม เมื่อสำนักงานประสังคมเตรียมปรับเพดานจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 875 บาทต่อเดือน สำหรับผู้จ้างที่มีเงินเดือนค่ามากกว่า 17,500 บาทต่อเดือน
การปรับขึ้นนี้วางแผนเป็นแบบขั้นบันได 3 ระยะดังนี้
- ระยะที่ 1 : ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567-31 ธันวาคม 2569 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 875 บาท/เดือน
- ระยะที่ 2 : ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570-31 ธันวาคม 2572 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,000 บาท/เดือน
- ระยะที่ 3 : ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาท/เดือน
การปรับเพดานเงินสมทบครั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้ปรับเพดานเงินสมทบทุก 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนประกันสังคมรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น
สิทธิประโยชน์ ได้สวัสดิการเพิ่มขึ้นเมื่อปรับเงินสมทบ
ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้
1. กรณีเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาตามวันที่แพทย์สั่งให้หยุดงาน
2. กรณีคลอดบุตร เงินสงเคราะห์หยุดงาน 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลา 90 วัน
3. กรณีทุพพลภาพ เงินทดแทนการขาดรายได้
- 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาตลอดชีวิต กรณีทุพพลภาพรุนแรง
- 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลา 180 เดือน กรณีทุพพลภาพไม่รุนแร
4. กรณีเสียชีวิต เงินสงเคราะห์ตายจ่ายให้ทายาท 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลา 4 หรือ 12 เดือน แล้วแต่กรณี
5. กรณีว่างงาน เงินทดแทนการขาดรายได้
- เนื่องจากถูกเลิกจ้าง 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
- เนื่องจากสมัครใจลาออก 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
- เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาจ้าง 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
- เนื่องจากเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
6. เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้าง ตั้งแต่เกษียณจากการทำงานไปจนตลอดชีวิต โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อปี ที่ส่งเงินสมทบเพิ่มเติม เช่น หากส่งเงินสมทบ 25 ปี จะได้รับบำนาญ 20% + (1.5% x 10) = 35% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
7. เงินบำเหน็จชราภาพ กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 15 ปี ผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จตามจำนวนเงินสมทบที่นำส่ง รวมผลตอบแทนการลงทุน
สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง
สิทธิประโยชน์เงินทดแทน | เงินทดแทนที่ได้รับ | |||
ปัจจุบัน | ปี 2567-2569 | ปี 2570-2572 | ปี 2573 เป็นต้นไป | |
(15,000 บาท) | (17,500 บาท) | (20,000 บาท) | (23,000 บาท) | |
เจ็บป่วย | 250 ต่อวัน | 292 ต่อวัน | 333 ต่อวัน | 383 ต่อวัน |
คลอดบุตร | 22,500 ต่อครั้ง | 26,250 ต่อครั้ง | 30,000 ต่อครั้ง | 34,500 ต่อครั้ง |
ทุพพลภาพรุนแรง | 7,500 ต่อเดือน | 8,750 ต่อเดือน | 10,000 ต่อเดือน | 11,500 ต่อเดือน |
เสียชีวิต | 30,000 บาท | 35,000 บาท | 40,000 บาท | 46,000 บาท |
ถูกเลิกจ้าง | 7,500 ต่อเดือน | 8,750 ต่อเดือน | 10,000 ต่อเดือน | 11,500 ต่อเดือน |
บำนาญ (ส่งเงิน 15 ปี)* | 3,000 ต่อเดือน | 3,500 ต่อเดือน | 4,000 ต่อเดือน | 4,500 ต่อเดือน |
บำนาญ (ส่งเงิน 25 ปี)* | 5,250 ต่อเดือน | 6,125 ต่อเดือน | 7,000 ต่อเดือน | 8,050 ต่อเดือน |
*คำนวณบนสมมติฐานค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเมื่อเกษียณอายุเท่ากับเพดานค่าจ้างตามตาราง