โข่เล่ แปลว่าอย่างไร เฉลยป้ายร้านหมูกระทะ ตำที่นี่แล้วไปโข่เล่ที่โต๊ะ
ชาวเน็ตเอ๊ะ โข่เล่ คืออะไร ร้านหมูกระทะขอนแก่นแปะป้าย “กรุณาตำที่นี่แล้วเอาไป…(โข่เล่)ให้เข้ากัน” วอนผู้รู้เฉลยที
ว่อนโซเชียล กรณีร้านบุฟเฟต์หมูกระทะชื่อดังจังหวัดขอนแก่น โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก นายตอง หมูกระทะ เป็นป้ายแนะนำลูกค้าที่ใช้ต้องการทำส้มตำว่า “งดนำกุ้งมาตำในครกส่วนรวม เนื่องจากมีลูกบางท่านแพ้กุ้ง กรุณาตำที่นี่แล้วเอาไป…(โข่เล่)ให้เข้ากันทีี่โต๊ะของท่านจ้า”
ลูกค้าถึงกับต้องอ่านดี ๆ อีกรอบ ว่า “โข่เล่” หมายความว่าอะไร แถมในแคปชันยังเขียนอีกว่า “ลูกค้าขอมา แอดกะจัดให้ ไผอยากกินตำกุ้งสด กะให้เจ้าตำแล้วกะไปโข่เล่เอาอยู่โต๊ะเจ้าของเด้อจ้า เห็นใจผุเพิ่นแพ้เนาะ เพิ่นกะสิอยากกินตำบักหุ่ง” ทำเอางงซ้ำงงซ้อนกันเลยทีเดียว
จากนั้นไม่นานมีผู้ใช้เฟซบุ๊คใจดีเข้ามาไขข้อสงสัยใต้คอมเมนต์ว่า โข่เล่ แปลว่า “กริยาอย่างหนึ่งคลุกเนื้อสัตว์ ผัก หรือเครื่องดื่ม ให้เข้ากันกับเครื่องปรุงอย่างทั่วถึง ใช้ได้ทั้งประเภทการปรุงอาหารแบบน้ำ ขลุกขลิก และแห้ง” ออกเสียงว่า “โคเล” เป็นภาษาถิ่นอีสาน
เชื่อว่าใครที่เป็นคนอีสานอ่านคำว่า โข่เล่ แล้วต้องอ๋อทันที แต่บางคนนี่สิ กว่าละลงมือตำได้ มียืนอึ้งกันอยู่สักพักแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : นายตอง หมูกระทะ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม