ไลฟ์สไตล์

ประวัติ ชัยภูมิ ป่าแส นักสิทธิมนุษยชน เหยื่อคดีวิสามัญ โดยกองทัพบก

ครบรอบ 6 ปี คดีวิสามัญฆาตกรรม “ชัยภูมิ ป่าแส” เปิดประวัติบุคคลสำคัญนักกิจกรรมเยาวชนสิทธิมนุษยชน และนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิแก่ฃนกลุ่มน้อยในสังคม ชาวลาหู่ ประเทศไทย หลังล่าสุดศาลฎีกาได้พิพากษาสั่งให้กองทัพบกต้องชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน ต่อครอบครัว เป็นเงินจำนวนทั้งหมด 2 ล้านบาท จากกรณีที่ทหารยิงชัยภูมิเสียชีวิต เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สังคมเกิดการตั้งคำถามถึงกองทัพบกไทยในเรื่องความโปร่งใสของการสืบสวน

ประวัติ “ชัยภูมิ ป่าแส” นักสิทธิมนุษยชน

สำหรับประวัติของ “ชัยภูมิ ป่าแส” หรือ “จะอุ๊” เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย และเสียชีวิตในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 ขณะอายุได้ 17 ปี ที่บริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เคยศึกษาอยู่ที่ โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม

บทบาทของ ชัยภูมิ ป่าแส เป็นที่รู้จักในฐานะนักกิจกรรมเยาวชนสิทธิมนุษยชนชาวลาหู่จากประเทศไทย เพื่อส่งเสริมสิทธิความชอบธรรมของชนกลุ่มน้อยภายในสังคม

สรุปเหตุการณ์ ชัยภูมิ ป่าแส ถูกสังหาร

งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 ชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพบกไทย “สังหาร” ณ ด่านตรวจบ้านรินหลวงในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว กองทัพบกได้ออกมาแก้ต่างว่าเป็นการสกัดชัยภูมิเนื่องจากขนส่งยาเสพติด

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของกองทัพบกไทยยังอ้างว่า ชัยภูมิ พยายามโยนระเบิดมาเพื่อประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่ และหลบหนีการจับกุม เป็นเหตุทำให้เจ้าหน้าที่ทหารสังหารเขาโดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย ทว่าพยานในเหตุการณ์กลับให้คำตรงกันข้ามกับกองทัพบกโดยบอกว่าเขาไม่มีอาวุธ อีกทั้งยังถูกเจ้าหน้าที่ประทุษร้ายก่อนจะถูกยิงจนเสียชีวิต

ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้างถึงความไม่น่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่กองทัพบกที่เหมือนจะพยายามปกปิดอะไรบ้างอย่าง ต่อมาทางกองทัพบกอ้างว่ามีหลักฐานผ่านกล้องวีดทัศน์ของกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้มีการเปิดเผยเนื้อหาของวิดีทัศน์ต่อสาธารณะชนตามที่กองทัพบกกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ประวัติ ชัยภูมิ ป่าแส
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องเพื่อยืนตามตามศาลชั้นต้นในคดีระหว่างนาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ กับกองทัพบก โดยพิเคราะห์ว่า “การกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นการละเมิด” เนื่องจากชัยภูมิขัดขวางการปฏิบัติงานและพยายามประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้น

ต่อมาล่าสุด ในวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 น. ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา คดีชัยภูมิ ป่าแส นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ลาหู่ ถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐทหาร เมื่อปี 2560 ณ ศาลแพ่ง (ถนนรัชดาภิเษก)

ทางด้านของ นางนาปอย ป่าแส มารดาของนายชัยภูมิ ป่าแส เป็นโจทก์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 ต่อกองทัพบก เป็นจำเลย เมื่อปี 2562

ทั้งนี้ ศาลฎีกาได้พิพากษาสั่งให้กองทัพบก ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการวิสามัญ นายชัยภูมิ ป่าแส ชดเชยค่าเสียหายให้กับครอบครัวเป็นจำนวนเงิน 2,072,400 บาท โดยแบ่งเป็น

1. ค่าปลงศพ 120,000 บาท

2. ค่าอุปการะแม่ 1,952,400 บาท

3. ค่าทนายความ 50,000 บาท

สำหรับค่าเยียวยาทางจิตใจ ที่ครอบครัวได้เรียกร้องไปนั้น ศาลเห็นว่านายชัยภูมิ ต้องเป็นผู้เรียกร้องเอง โดยทางกองทัพต้องจ่ายใน 30 วัน

อ้างอิง : วิกิพิเดีย, โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button