เที่ยวบินดีเลย์ เพราะสาเหตุเหล่านี้ วิธีเรียกร้องค่าชดเชยจากสายการบิน
ทำไมเที่ยวบินถึงดีเลย์ ค้นหาสาเหตุไปด้วยกัน พร้อมวิธีรับมือหากเจอสถานการณ์ไม่คาดฝัน และสิ่งที่ผู้โดยสารต้องได้รับชดเชยหลังความล่าช้าในการเดินทางด้วยเครื่องบิน
การเดินทางด้วยเครื่องบิน เป็นวิธีการเดินทางที่แสนจะปลอดภัย รวดเร็ว แม้ระยะทางจะไกลหลักหลายร้อยกิโลก็สามารถถึงจุดหมายภายในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง และสิ่งที่ทุกคนไม่อยากพบเจอเวลาเดินทางด้วยเครื่องบิน นั่นคือเหตุการณ์เที่ยวบินดีเลย์นั่นเอง เช่น เราจองเที่ยวบินเวลา 12.00 น. แต่เราได้ออกเดินทางจริง ๆ ตอน 13.00 น. เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การแผนการเดินทางของเราอาจจะพังพินาศ และทำให้เสียเวลาในการเดินทางเพิ่มเติม ทีนี้อาจจะสงสัยกันว่า แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้การบินล่าช้าไปเป็นเวลาหลายชั่วโมงกัน วันนี้เราจะพาทุกคนมาสำรวจสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เที่ยวบินไม่สามารถบินขึ้นได้ตรงเวลากัน
สาเหตุที่ทำให้เที่ยวบินดีเลย์
เหตุผลที่ทำให้เที่ยวบินต้องล่าช้าออกไปนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก โดยเราสามารถสรุปสาเหตุต่าง ๆ ได้ดังนี้
ปัญหาสภาพอากาศ
มักจะเกิดขึ้นช่วงฤดูฝน หรือ ฤดูหนาว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบินเป็นอย่างมาก ด้วยสภาพอากาศที่ฝนตก ฟ้าคะนอง เมฆเยอะ หมอกที่หนา หรือกระทั่งหิมะตก ทำให้บดบังทัศนวิสัยและขัดขวางเส้นทางการบิน เพราะการเดินทางทางอากาศ หากมีอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลถึงความปลอดภัยของลูกเรือภายในเครื่องบิน ดังนั้นจึงต้องยอมเสียเวลาเพื่อเช็คให้แน่ใจว่าสภาพอากาศพร้อมเดินทางแล้ว จึงค่อยนำผู้โดยสารขึ้นบิน
ปัญหาขัดข้องทางเทคนิค
เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการแก้ปัญหา เหตุเพราะการนำเครื่องขึ้นบินได้นั้น ทางสายการบินจะต้องเช็คอุปกรณ์ภายในเครื่องบินว่าสมบูรณ์พร้อมใช้จริง ๆ หากเกิดปัญหา เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงใกล้หมด มีอุปกรณ์บางอย่างเสียหาย หรือเปลี่ยนอะไหล่ของเครื่องบิน ก็จำเป็นต้องทำการแก้ไขเพื่อให้พร้อมบินมากที่สุด
ปัญหาจากผู้โดยสาร
ส่วนใหญ่มักเกิดจากที่ผู้โดยสารบางคนได้ทำการ Check-in ในระบบออนไลน์ แล้วไม่ได้มาขึ้นเครื่องหรือตกเครื่องไปแล้ว แต่ยังมีการโหลดสัมภาระไว้ใต้ท้องเครื่องบิน เจ้าหน้าที่จะเช็คที่ครั้งว่าผู้โดยสารแต่ละคนมีสัมภาระที่โหลดไว้ใต้เครื่องหรือไม่ หากมีแต่สัมภาระแต่ไม่มีผู้โดยสาร ก็จำเป็นต้องค้นหาเพื่อนำออกจากเครื่องบิน เนื่องจากไม่สามารถนำสัมภาระที่ไม่มีเจ้าของบินไปด้วยได้ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งช่วงที่ทำการค้นหาสิ่งของเพื่อนำออกนี่เอง ที่อาจทำให้เครื่องล่าช้าไปเกือบครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว
ปัญหานักบินหรือลูกเรือไม่เพียงพอ
เครื่องบินแต่ละไฟลท์นั้น จะมีการกำหนดจำนวนนักบินและลูกเรือเอาไว้ หากในเที่ยวบินนั้นเกิดเหตุที่จำนวนคนไม่เพียงพอ จึงจำเป็นที่จะต้องเรียกลูกเรือหรือนักบินสำรองเพื่อเติมเต็มคนที่ขาดไป เพื่อทำให้ไฟลท์บินสามารถเดินทางต่อไป ดังนั้นจึงควรรอสมาชิกสมทบก่อนออกบิน
ปัญหาเที่ยวบินขาเข้าเกิดดีเลย์
ปกติแล้วสายการบินจะใช้เครื่องบินลำเดียวกันทั้งขาเข้าและขาออก หากเที่ยวบินขาเข้าเกิดความล่าช้าในการลงจอด แน่นอนว่ากระบวนการในการลำเลียงผู้โดยสาร นำสัมภาระออก รวมถึงการตรวจสอบความปลอดภัยของตัวเครื่อง ซึ่งส่งผลกระทบกับเที่ยวบินถัดไป ทำให้เกิดความล่าช้าไปโดยปริยาย
ปัญหาการก่อวินาศกรรม
จากเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 อันก้องโลกที่เกิดจากเหตุจี้เครื่องบิน ทำให้เกิดการปรับมาตรการความปลอดภัยบนเครื่องบินกันทั่วโลก จะสังเกตได้จากข่าวที่เคยมีคุยกันเรื่องระเบิดภายในเครื่องบิน จนทำให้เที่ยวบินต้องดีเลย์หรือยกเลิก ดังนั้น พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2558 จึงถูกร่างขึ้นมาเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการพูดเล่นเกี่ยวกับการก่อการร้าย แต่ก็สามารถทำให้เครื่องดีเลย์ได้หลายชั่วโมง อีกทั้งผู้พูดอาจได้รับโทษถึงขั้นจำคุกอีกด้วย
ปัญหาสุดวิสัย
ในส่วนนี้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นฉับพลัน อาทิ รันเวย์เครื่องบิน มีสุนัข แมว หรือสัตว์อื่น ๆ เดินเพิ่นพ่าน สนามบินปลายทางปิดกระทันหัน ผู้โดยสารหรือลูกเรือป่วย อย่างที่เคยบอกไปในข้อก่อน ๆ ว่าหากเกิดเหตุเพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถนำเครื่องบินขึ้นได้ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
วิธีรับมือเมื่อเครื่องบินดีเลย์
เมื่อเกิดเหตุการณ์ดีเลย์แล้ว ไม่ควรโวยวายหรือตีโพยตีพายเสียงดัง ควรควบคุมและตั้งสติก่อน จากนั้นให้ทำตามวิธีดังนี้ เพื่อรักษาสิทธิ์ของผู้บริโภค
- โทรหา Call Center หรือติดต่อเคาน์เตอร์ของสายการบินที่ดีเลย์ พร้อมขอเอกสารรับรองการดีเลย์ โดยให้ทางสายการบินระบุสาเหตุให้ชัดเจนลงในหนังสือ
- ถ่ายภาพการดีเลย์ไว้เป็นหลักฐาน
- คำนวณค่าใช้จ่ายที่ทำการบิน
- คลิ๊กที่นี่ เพื่อขอเคลมค่าดีเลย์จากสายการบินต่างประเทศ ส่วนการดีเลย์ของสายภายบินภายในประเทศ หากดีเลย์เกิน 6 ชั่วโมง ผู้โดยสารสามารถโทรแจ้งได้ที่กองคุ้มครองสิทธิ์ 02-568-8815, 02-535-1294 หรือ ร้องเรียนสายการบินออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://portal.caat.or.th/complaint/
เที่ยวบินดีเลย์ เรียกร้องอะไรได้บ้าง
หลังจากเกิดการล่าช้าของเที่ยวบินแล้ว ผู้โดยสารจะต้องได้รับการชดเชยจากสายการบินที่เราใช้บริการ ดังนี้ (อ้างอิงจาก ประกาศกระทรวงคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย พ.ศ.2553 เฉพาะสายการบินของไทยและเที่ยวบินภายประเทศเท่านั้น)
ล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง (ดีเลย์ 2-3 ชั่วโมง)
- ได้รับอาหารเครื่องดื่มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย*
- ได้รับการอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย*
- ได้รับค่าโดยสารคืนหากไม่ต้องการเดินทางแล้ว
ล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง (ดีเลย์ 3-5 ชั่วโมง)
- ได้รับอาหารเครื่องดื่มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย*
- ได้รับการอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย*
- ได้รับค่าโดยสารคืนหากไม่ต้องการเดินทางแล้ว หรือเปลี่ยนเที่ยวบิน หรือเดินทางด้วยการขนส่งอื่น
ล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง (ดีเลย์ 5-6 ชั่วโมง)
- ได้รับอาหารเครื่องดื่มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย*
- ได้รับการอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย*
- ได้รับค่าโดยสารคืนหากไม่ต้องการเดินทางแล้ว หรือเปลี่ยนเที่ยวบิน หรือเดินทางด้วยการขนส่งอื่น
- ได้รับเงินสดชดเชย 600 บาททันที (ยกเว้นสายการบินพิสูจน์ได้ว่าล่าช้าเพราะเหตุสุดวิสัย)
ล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกรณีถูกยกเลิกเที่ยวบิน (ดีเลย์ 6 ชั่วโมงขึ้นไป)
- ได้รับอาหารเครื่องดื่มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย*
- ได้รับการอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย*
- ได้รับค่าโดยสารคืนหากไม่ต้องการเดินทางแล้ว หรือเปลี่ยนเที่ยวบิน หรือเดินทางด้วยการขนส่งอื่น
- ได้รับบริการที่พักพร้อมการรับส่งระหว่างสนามบินกับที่พักโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากต้องการค้างคืน
- ได้รับเงินสดชดเชย 1,200 บาท (ยกเว้นสายการบินพิสูจน์ได้ว่าล่าช้าเพราะเหตุสุดวิสัย หรือสายการบินได้แจ้งยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันและเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือสายการบินเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสารไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้ภายในไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิม)
(*จะได้รับเฉพาะผู้โดยสารที่ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าและเดินทางมาถึงสนามบินแล้ว)
เที่ยวบินดีเลย์อาจเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ หากเกิดขึ้นให้ตั้งสติให้มั่น และใช้สิทธิ์ของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเพื่อรับการชดเชยหรือเปลี่ยนเที่ยวบิน เพื่อให้ไปถึงจุดมุ่งหมายโดยสวัสดิภาพและปลอดภัย ขอให้ทุกคนได้ขึ้นเที่ยวบินที่เดินทางตรงเวลากันทุกคนนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย