พยากรณ์อากาศวันนี้ 13 พ.ย. 66 กรุงเทพฯ ยังคงต้องระวังฝน
พยากรณ์อากาศวันนี้ ประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 หลายพื้นที่ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตก พร้อมเผยพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊ก ด้วยการอัปเดตพยากรณ์อากาศวันนี้ พร้อมแนวโน้มฝนสะสมรายวัน ตั้งแต่วันที่ 13 – 22 พฤศจิกายน 2566 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ดังนี้
“พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.:(นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 13-22 พ.ย.66 อัพเดท 202311212 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) :
วันนี้ (13 พ.ย.66) มวลอากาศเย็นกำลังปานกลางเริ่มแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนเป็นระลอกๆ ทำให้ลมหนาวที่พัดปกคลุมมีกำลังแรงขึ้น
ประกอบกับวันนี้ ยังมีลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้พัดแทรกเข้ามาปกคลุมบางช่วง ยังมีฝนรบกวน ยังไม่ขาดเม็ด เป็นฝน/ฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะบริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล เมฆมากช่วงบ่าย ต้องเฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองวันนี้ อีก 1 วัน
แจ้งเตือน พี่น้องเกษตรกร ที่กำลังเก็บเกี่ยวและตากผลผลิต (ข้าวนาปี) งานกลางแจ้ง เช้าถึงบ่ายแดดพอมีแดด เย็นๆ มีเมฆมาก และมีฝน อากาศยังไม่เย็นลงมากนัก ความชื้นสูง ส่วนภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ต้องเฝ้าระวัง พี่น้องชาวเรือระวังคลื่นลมแรงบริเวณที่ฝนฟ้าคะนอง
ในช่วง 14 -20 พ.ย.66 ฤดูหนาวมาช้าแต่มาชัวร์ เตรียมรับลมหนาว คาดว่่าจะมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอบนเป็นระลอกๆ ทำให้ลมหนาวพัดต่อเนื่องและแรงขึ้น ฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มลดลง อาจจะยังมีฝนเกิดขึ้นได้บ้างช่วงที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาระยะแรก (เช่นในวันที่ 16 พ.ย.66)
หลังจากนั้นอุณหภูมิจะเริ่มลดลง และมีลมแรง ต้องเฝ้าระวังสุขภาพช่วงที่อากาศหนาวเย็นลง เป็นสัญญาณการเริ่มต้นฤดูหนาวเริ่มชัดขึ้นในช่วงนี้ เตรียมวางแผนไปสัมผัสเย็นถึงหนาวได้ โดยเฉพาะตามยอดดอย ยอดภู อากาศหนาวถึงหนาวจัด (17 – 20 พ.ย.66) พื้นราบอากาศเย็น
ช่วง 21-22 พ.ย.66 มวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาเริ่มกำลังอ่อนลง ทำให้อากาศอุ่นขึ้น ไทยตอนบนฝนยังน้อย ส่วนภาคใต้ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป ต้องระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง คลื่นลมแรงขึ้น ปีนี้การเริ่มต้นฤดูหนาวมาช้า อาจจะเลื่อนไปในช่วงกลางเดือน พ.ย. ช่วงแรกๆ อาจจะยังมีฝนฟ้าคะนอง (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)”