ข่าว

นักข่าวภาคสนามพ้อ มีอีกหลายเคสรีไรต์ข่าวแต่ต้นทางถูกลืม ถึงเวลาส่งเสียงแล้ว

นัข่าวภาคสนามตัดพ้อแรง ไม่ได้มีแค่เคสที่กำลังเป็นกระแส ชี้อินฟลูฯ สมัยนี้ก็รีไรต์ข่าวทำให้ต้นทางถูกลืม ถึงเวลาที่ต้องส่งเสียงแล้ว

สืบเนื่องจากกรณีดราม่าวงการข่าวระหว่าง อ๊อฟ ชัยนนท์ และ แย้ม ฐปณีย์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คนในวงการข่าวหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่นักข่าวที่มีประสบการณ์ภาคสนามจะเห็นด้วยว่าการรีไรต์ข่าวเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้น

อย่างเช่นกรณีของผู้ใช้เฟซบุ๊ก Pornthip Morngyai นักข่าวภาคสนามจากช่องเวิร์คพอยท์ที่ล่าสุด (11 พ.ย. 66) ออกมาโพสต์ข้อความตัดพ้อว่านอกจากเคสนักข่าวรีไรต์งานคนอื่นที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้ อีกมุมหนึ่งที่คนควรให้ความสนใจคือบรรดาเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่รีไรต์ข่าวคนอื่นไม่ต่างกัน

“อินฟลูที่หลายคนติดตาม​ก็ลอกข่าว​ ก๊อปประเด็นแล้วปรุงใหม่เยอะ​ ไม่ใช่แค่เคสที่กำลังเป็นกระแส​ ส่วนคนต้นทางก็ถูกลืม​ ทุกที

ถึงเวลาที่เราต้องส่งเสียง​ ทีผ่านมาถูกทำนาบนหลังนักข่าว​ช่างภาพมาแล้วกี่คน​

และท้ายสุด​ คนพวกนี้ได้ชื่อ​ ได้หน้า​ ได้เงิน​ พวกเราคนต้นทาง​แทบไม่เป็นที่จดจำเลย

เราอยากเห็น​องค์กรวิชาชีพ​ ที่ออกมาปราม​เรา​ มีบทบาทคุ้มครองเราด้วยเช่นกัน

หวังว่าเหตุการณ์นี้​ทำให้สังคมคนข่าว​และกสทช.​ ดีอี​จะช่วยกันขบคิดว่าจะหาทางอย่าง​คุ้มครองพวกเราภาคสนามบ้าง”

นักข่าวภาคสนาม
ภาพจาก : Pornthip Morngyai

ก่อนหน้านี้ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวก็ได้ออกมาพูดถึงประเด็นเรื่องการทำข่าวภาคสนามด้วยเช่นกัน ถึงประเด็นการออกภาคสนามทำข่าวในแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ลำบาก แต่นักข่าวหลายคนก็ต้องลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข่าวมานำเสนอผู้ชม ความว่า

“กว่าจะได้ข่าว​ 3-5 นาที​ มาออกอากาศ​ หรือข่าวแต่ละตัว​ มัน​ไม่ใช่​ แค่จัดเก้าอี้เอาไฟส่องแล้วถาม​ ข่าวบางข่าว​ โดยเฉพาะ​ภัยพิบัติ​ มันต้องเดินทาง​ เดินเท้าฝ่าดงโคลน​ เดินขึ้นลงเขา​

สมองกับปากหาข้อมูล​ แล้วต้องไปให้ทันเวลารายงาน​บางพื้นที่น้ำท่วมสูง​ โคลนถล่ม​ รถไม่สามารถเข้าได้​ แต่ความจิตวิญญาณความเป็นนักข่าว​มันต้องลุยต่อ​ ไม่กลัวว่าข้างหน้าจะอันตรายยังไง​ แต่ต้องประเมินให้รอบคอบ​

จากคลิป​ เห็นได้ชัดว่า​เราต้องแบกอุปกรณ์กี่ชิ้น​ ยากลำบากยังไง​ เละเทะยังไง​ กว่าจะได้แต่ละข่าวที่มันเป็นทรัพย์สินทางปัญญา​ แรงกายแรงใจ​ แล้วมามีคนเอาไปสร้างชื่อตัวเอง​ จะให้รู้สึกขอบคุณ​หรือค่ะ

การลงพื้นที่​ทำข่าว​ ไม่ใช่แค่การสร้างภาพว่าลุยทุกเหตุการณ์​ แต่คือการ ลงไปฟังเสียง​ รับรู้ปัญหา​ ให้เห็นด้วยตา รับรู้ด้วยใจของนักข่าว​ และถ่ายทอดออกมาด้วยจิตสำนึก​ และหน้าที่

ไม่แปลกเลย​ ถ้าผู้ประกาศหรือคนในสถานีจะใช้ภาพและบทข่าวเราเพราะเป็นลิขสิทธิ์ของสถานี​หรือสำนักข่าวนั้นๆ​ แต่คนนอกเนี่ย​ ไม่น่าจะใช่

ขอบคุณ​ คลิปภาพ​ พี่วิทย์”

นักข่าวภาคสนาม
ภาพจาก : Pornthip Morngyai

ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องการรีไรต์ข่าว และการออกภาคสนามของแต่ละสำนักข่าวจะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่หยุด ทั้งนี้หลายคนก็คาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือนักข่าวภาคสนามที่อดทนทำงานหนักมาโดยตลอด แต่ก็ไม่เคยได้ยอดรับชมข่าวเท่าคนที่นำไปรีไรต์ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าประเด็นนี้จะจบลงอย่างไร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button