Line Newsไลฟ์สไตล์

เปิดตำนาน ‘จิ้งจอกเก้าหาง’ จากเอเชียสู่ ‘รัชดา’ ศักดิ์สิทธิ์ยังไง คนไทยถึงบูชา

ย้อนเส้นทางตำนานจิ้งจอกเก้าหาง จากตำนานในประเทศแถบเอเชียสู่รูปปั้นบูชาในไทย มีเรื่องเล่าว่าอย่างไร เหตุใดคนไทยบางส่วนถึงเลือกบูชา

กำลังเป็นประเด็นในสังคมอย่างมาก หลังจากเพจศิษย์มีครูได้โพสต์ภาพ นางพญาจิ้งจอกเก้าหาง รัชดา รูปปั้นเคารพบูชารูปใหม่ที่ตั้งร่วมกับทวยเทพอื่น ๆ รวมถึงครูกายแก้วที่เป็นองค์ประธาน ณ ศาลครูกายแก้ว รัชดา เพื่อให้ผู้คนที่ศรัทธา สามารถเดินทางไปเคารพบูชาได้

นางพญาจิ้งจอกเก้าหางนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสุนัขจิ้งจอกเก้าหาง (ชื่อภาษาอังกฤษ The nine tailed fox) ที่ปรากฏตามสื่อบันเทิงต่าง ๆ รวมถึงตำนาน นิทานพื้นบ้านของประเทศแถบเอเชีย หลาย ๆ ท่านที่ติดตามข่าวสาร อาจเกิดความสงสัยว่า แท้จริงแล้วจิ้งจอกเก้าหางเป็นเทพที่สามารถประทานพรได้จริงหรือ บทความนี้เราจะพาทุกท่านไปย้อนตำนานจิ้งจอกเก้าหาง แต่ละประเทศมีเรื่องเล่าว่าอย่างไร เหตุใดผู้คนในสังคมไทยจึงกราบไหว้สัตว์พิเศษนี้

ประวัติจิ้งจอกเก้าหาง ตามตำนานในทวีปเอเชีย

จิ้งจอกเก้าหางปรากฏในตำนานของประเทศต่าง ๆ ในแถบทวีปเอเชีย ตามตำนานเล่าว่า เป็นจิ้งจอกที่บำเพ็ญเพียรจนมีฤทธิ์ สามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง มีใบหน้าสะสวย แต่ละตำนานจะมีลักษณะของจิ้งจอกตอนเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าคล้ายกับมนุษย์ทุกประการ แต่บ้างก็บอกว่าเป็นมนุษย์ที่มีเก้าหาง โดยตำนานจิ้งจอกเก้าหางในเอเชีย ปรากฏอยู่หลายประเทศ ดังนี้

ตำนาน ภูตจิ้งจอกเก้าหางของอินเดีย

หลายท่านอาจจะคิดว่าจิ้งจอกเก้าหางมีที่มาจากจีน แต่แท้จริงเริ่มต้นมาจากอินเดีย แล้วเผยแพร่ไปทางเส้นทางสายไหมสู่ประเทศจีน ตามตำนานของอินเดียเล่าว่า ปิศาจจิ้งจอกเก้าหาง ได้แปลงกายเป็นสาวงาม จนองค์ชายแห่งราชวงศ์ผู้ปกครองประเทศอินเดีย เกิดรักใคร่ชอบพอจนนำทรัพย์สินไปสู่ขอ

เมื่อปิศาจจิ้งจอกได้เข้าวังหลวงในฐานะนางสนม องค์ชายก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน กลายเป็นพวกลุ่มหลงในกาม ละเลยราชการต่าง ๆ ทั้งยังละเลยพระคู่หมั้นที่กำลังจะแต่งงานด้วย จนร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน ราวกับคนที่ถูกมนต์ดำบางอย่างครอบงำอยู่ในตัว

พระราชาเห็นอาการที่ผิดปกติของพระโอรส จึงสั่งโหรหลวงทำนายดวงชะตาขององค์ชาย แต่ถูกปิศาจจิ้งจอกขัดขวางโดยการให้องค์ชายฆ่าพระบิดาเสีย แต่พระราชากลับรู้ตัวทัน จึงสั่งให้เหล่านักบวชผู้แข็งกล้าในวิชาเข้าจัดการปิศาจจิ้งจอกด้วยมนต์คาถา และนำเอาสุนัขบ้านจำนวนหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นสัตว์คู่ปรปักษ์ต่อปีศาจจิ้งจอกมาร่วมประกอบพิธีด้วย

หลังจากถูกมนต์ขับไล่ ปิศาจจิ้งจอกก็เผยร่างแท้ที่จริงออกมา ปรากฏเป็นร่างของจิ้งจอกขนสีทองขนาดใหญ่ มีหางทั้งเก้าชูชันอยู่เหนือท้องฟ้า ก่อนที่จะเหาะหายไป และไม่มีใครได้พบเห็นปิศาจจิ้งจอกตนนี้อีกเลย

ตำนานจิ้งจอกเก้าหางซูต๋าจีของจีน

ตามตำนานของจีนจิ้งจอกเก้าหางจะดูร้ายสักหน่อย เรื่องราวเกิดขึ้นในราชวงศ์ซาง สมัยของจักรพรรดิโจ้ว พระองค์ได้เสด็จไปถวายสักการะพระแม่หนี่วา เมื่อเห็นรูปสลักงดงามดังมีชีวิต จึงได้แต่งโคลงแล้วนำไปประดับไว้ที่เทวสถาน แต่ถ้อยคำที่ปรากฏในโคลงนั้นส่อแววล่วงเกิน จึงเป็นเหตุให้พระแม่หนี่วาพิโรธ

พระแม่หนี่วาจึงส่งปิศาจจิ้งจอก ปิศาจพิณ และปิศาจไก่ มาทำร้ายจักรพรรดิโจ้ว แต่ในเวลาเดียวกันนั้น จักรพรรดิโจ้วได้สั่งให้ทหารตามหาหญิงที่มีใบหน้างดงามเหมือนพระแม่หนี่วา กระทั่งพบธิดาของมหาเศรษฐีผู้หนึ่งนามว่า ซูต๋าจี เมื่อปิศาจจิ้งจอกพบเข้าจึงสังหารนาง ก่อนเข้าสิงร่างแทน แล้วไปถวายตัวเป็นสนมแก่จักรพรรดิโจ้ว

เมื่อเข้าไปในพระราชสำนักได้ ปิศาจจิ้งจอกก็ใช้กลอุบายหลอกลวงในจักรพรรดิโจ้วหลงผิด มัวเมาในอบายมุขและสตรี ทั้งยังสร้างหอคอยสูง โดยการขูดรีดภาษีจากประชาชน รวมถึงเกณฑ์แรงงานมาก่อสร้าง จนประชาชนล้มตายมากมาย หากใครขัดขืนก็จะสั่งประหารชีวิต ซึ่งในตอนที่บ้านเมืองวุ่นวายถึงขีดสุด นางจิ้งจอกก็พาปิศาจตนอื่น ๆ เข้ามาสิงสู่ในวังเพิ่มขึ้น

เรื่องราวความวุ่นวายในโลกมนุษย์ร้อนมาถึงเมืองเทพ จนปรมาจารย์เอวี๋ยนสื่อเทียนจวิน และเหล่าเซียนแห่งเขาคุนหลุน ต้องบัญชาให้ศิษย์เอกนามว่า ไท่กงฮว่าง หรือที่มีชื่อจริงว่า หลี่ซ่าง หรือเจียงจื่อหยา เดินทางมายังโลกมนุษย์เพื่อกำจัดปิศาจจิ้งจอกที่สิงร่างซูต๋าจี

ไท่กงฮว่างได้รวบรวมพวกพ้อง ทั้งนักพรต จอมยุทธ์ และเหล่าขุนนางที่หลบหนีจากราชสำนัก นำทัพบุกโจมตีนครเฉาเกอ และโค่นล้มจักรพรรดิโจ้ว จนสามารถกำจัดได้และนำตัวปิศาจไปลงโทษ ซึ่งเจ้าแม่หนี่วานั้นก็ไม่ได้ขัดขวางการจับกุมปิศาจแต่อย่างใด เนื่องจากปิศาจทั้งสามตนทำเกินหน้าที่ อย่างไรก็ตาม มีเพียงปิศาจพิณและปิศาจไก่เท่านั้นที่ถูกลงโทษจนถึงแก่ความตาย ส่วนจิ้งจอกเก้าหางสามารถหลบหนีไปได้

จิ้งจอกเก้าหาง ตำนานจีน

ตำนานจิ้งจอกเก้าหางทามาโมะ โนะ มาเอะของญี่ปุ่น

ตำนานจิ้งจอกเก้าหางของญี่ปุ่นถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางไม่แพ้กับตำนานจีน ประวัติจิ้งจอกเก้าหางตามตำนาของแดนอาทิตย์อุทัยเล่าว่า ช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิโทบะ จิ้งจอกเก้าหางเป็นปิศาจที่เข้ามาแฝงตัวในราชสำนักของญี่ปุ่น

หลังจากที่จิ้งจอกเก้าหางหลบหนีออกมาจากอินเดียและจีนได้แล้ว ได้แอบแฝงตัวเข้ามาในร่างของ ทามาโมะ โนะ มาเอะ หญิงงามที่มีสติปัญญาล้ำเลิศ ทั้งยังมีกลิ่นกายหอมดั่งดอกไม้ สวมเสื้อผ้าสะอาดงามตา ด้วยความงดงามเหนือใครนี้ ทำให้จักรพรรดิโทบะเกิดความลุ่มหลงในตัวนางเป็นอย่างมาก

ด้วยความรักและความลุ่มหลวงมัวเมาในสตรี ทำให้สุขภาพร่างกายของจักรพรรดิโทบะทรุดโทรมลงทุกวัน ราชสำนักจึงได้ทำพิธีปัดรังควาน โดยการอัญเชิญนักพรตมาช่วยทำพิธี ด้วยเหตุนี้จึงทราบว่า มีปิศาจจิ้งจอกแฝงตัวอยู่ในวัง

เมื่อจิ้งจอกเก้าหางเห็นว่าคนในวังเริ่มสงสัย จึงคืนร่างเป็นสุนัขจิ้งจอกสีทองตัวใหญ่มีเก้าหาง เหาะหนีไปบนท้องฟ้า ทำให้เหล่าทหารต้องตามไปจนถึงบริเวณภูเขานาสุ ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน จนในที่สุดฝ่ายทหารก็สามารถสยบจิ้งจอกเก้าหางได้ ตำนานเล่าว่า หลังจากนั้น นางจิ้งจอกกลายเป็นหินเซ็ชโชเซกิ และกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ตำนานจิ้งจอกเก้าหางกูมิโฮของเกาหลี

ประวัติจิ้งจอกเก้าหางตามตำนานของเกาหลีใต้ มีชื่อว่า กูมิโฮ (Gumiho) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีชื่อเสียง ตามตำนานกล่าวไว้ว่า กูมิโฮ เป็นสุนัขจิ้งจอกที่มีอายุกว่า 1,000 ปี สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างให้กลายเป็นหญิงสาวแสนงาม เพื่อหลอกลวงชายหนุ่ม

สาเหตุที่กูมิโฮหลอกลวงชายหนุ่ม เป็นเพราะเธอต้องการกินหัวใจหรือตับของมนุษย์ให้ครบ 100 คน เพื่อที่เธอจะสามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเธอจะเลือกเฉพาะเหยื่อที่เป็นผู้ชาย เพราะง่ายต่อการล่อลวงด้วยรูปโฉมอันงดงามของเธอนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม กูมิโฮไม่ได้ปรากฏแค่ในนิทานหรือตำนานพื้นบ้านของเกาหลีเท่านั้น แต่ยังปรากฏในนิทานของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ได้แก่ จีน และญี่ปุ่นอีกด้วย

แม้จะเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์ สามารถแปลงกายได้ ทั้งยังมีลักษณะพิเศษที่ดูสวยงามกว่าสัตว์ธรรมดาทั่วไป รวมถึงในปัจจุบันผู้คนยังนิยมนำสัตว์ชนิดนี้ไปสร้างสรรค์เป็นตัวละครต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกม ซีรีส์ดังอย่างเรื่อง ตำนานรักจิ้งจอกเก้าหาง (Tale of the Nine Tailed) รวมถึงนวนิยายหรือแฟนฟิกชัน ที่นำจิ้งจอกเก้าหางไปเป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง แต่จิ้งจอกเก้าหางก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเทพประทานพรแต่อย่างใด

สังเกตได้จากตำนานที่ปรากฏ โดยส่วนใหญ่แล้วสุนัขจิ้งจอกในตำนานจะรับบทตัวร้ายเสียมากกว่า ทั้งล่อลวงชายหนุ่มเพื่อความต้องการของตัวเอง รวมถึงใช้เสน่ห์มารยาหญิงสาวเพื่อก่อการชั่วร้าย ต่างจากสัตว์ตามตำนานจีนหรือประเทศอื่น ๆ ที่ถูกยกให้เป็นสัตว์มงคล เนื่องจากสร้างคุณงามให้ดีให้แก่มนุษย์ เช่น มังกร หงส์ เต่า เป็นต้น

จิ้งจอกเก้าหางในประเทศไทย

จิ้งจอกเก้าหางไม่เคยปรากฏตามตำนาน หรือนิทานพื้นบ้านของไทยมากเทียบเท่ากับประเทศอื่น ๆ อย่างจีนหรือญี่ปุ่น เรามักจะพบเห็นสุนัขจิ้งจอกในสื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้คนบางส่วนในสังคมไทยก็มีความเชื่อเรื่องสุนัขจิ้งจอกเช่นกัน

สังเกตได้จากตามวัดต่าง ๆ ที่มีการนำยันต์รูปจิ้งจอกเก้าหางมาใช้บูชา รวมถึงเหรียญ ตะกรุด และเทียน โดยมีความเชื่อทางพุทธคุณว่า มีเสน่ห์ในด้านเมตตามหานิยมหรือเรื่องความรัก ทำให้ผู้บูชามีเสน่ห์และเป็นที่รักของเพศตรงข้าม หรือผู้ที่พบเห็น เนื่องจากตามตำนานจิ้งจอกเก้าหางส่วนใหญ่จะมีลักษณะสวยงาม ใครเห็นเป็นต้องลุ่มหลงนั่นเอง

นอกจากนี้ ผู้คนบางส่วนยังเชื่อว่า มีพุทธคุณในด้านการค้าขาย เสริมกำไรเสริมโชคลาภให้กับผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงให้โชคทางด้านการงาน อย่างเช่นรูปปั้นนางพญาจิ้งจอกเก้าหาง ณ ศาลครูกายแก้ว รัชดา ที่ผู้คนบางส่วนเชื่อว่า มีพุทธคุณด้านความรัก และโชคลาภเงินทองเช่นกัน

เราอาจอนุมานได้ว่าสาเหตุที่คนไทยบางส่วนเชื่อว่า จิ้งจอกเก้าหางมีอิทธิฤทธิ์ สามารถประทานพรให้ได้ เป็นเพราะสังคมไทยมีความเชื่อเรื่องสัตว์มงคล อะไรที่ดูแปลก อะไรที่ดูแตกต่าง ถือเป็นตัวแทนจากเทพเจ้าที่จุติลงมาประทานพรให้แก่มนุษย์ กล่าวคือคล้ายคลึงกับการไหว้เทพสี่หูห้าตา ที่เป็นสัตว์ในนิทานพื้นบ้านของไทยก็ว่าได้

สุนัขจิ้งจอกเก้าหางเป็นสัตว์ที่ปรากฏในตำนานตามประเทศต่าง ๆ ทวีปเอเชียมากมาย แม้ไม่ปรากฏในนิทานหรือตำนานของไทย แต่ผู้คนบางส่วนก็ยังเลือกที่จะเคารพบูชา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณและใช้ดุลยพินิจในการกราบไหว้บูชาเทพเจ้าตามที่ท่านเห็นว่าสมควรจะดีที่สุด

จิ้งจอกเก้าหาง ตำนานเกาหลี

อ้างอิง : 1 2

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button