ข่าว

ชาวเน็ตฮือฮา ปรากฏการณ์แสงสีเขียว คล้ายแสงเหนือ ที่เขาพะเนินทุ่ง แก่งกระจาน

โซเชียลตื่นตาตื่นใจ เกิดปรากฏการณ์แสงสีเขียว คล้ายแสงเหนือ ที่เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้านนักวิชาการแย้งมาจากแสงเรือไดหมึก พร้อมเปิดสาเหตุการเกิดแสงเหนือ

ช่วงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้านดาราศาสตร์มีมาให้ได้ตื่นตาตื่นใจกันอยู่บ่อย ๆ วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้โพสต์ภาพที่ทำเอาชาวเน็ตให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนที่ปรากฏแสงสีเขียวพาดผ่าน คล้ายกับออโรรา หรือที่เรียกกันว่า แสงเหนือ

ภาพดังกล่าวถ่ายที่จุดชมวิวเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวก็ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความด้วยว่า “ปรากฏการณ์แสงสีเขียว แสงสีเขียวไม่รู้มาจากไหน แต่ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเปิดท่องเที่ยวพะเนินทุ่งพอดี แอดก็เพิ่งเคยเห็นแสงแบบนี้เป็นครั้งแรก ท่านใดมีข้อมูลคอมเมนต์บอกกันได้เลยครับ”

แสงเหนือเขาพะเนินทุ่ง

แสงเหนือ แก่งกระจาน
ภาพจาก Facebook : เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

นักวิชาการแย้ง แท้จริงมาจากแสงเรือไดหมึก

หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย โดยบางส่วนเชื่อว่าปรากฏการณ์แสงสีเขียวเป็นแสงเหนือจริง แต่บางส่วนกลับมองว่า แสงสีเขียวที่ปรากฏบนท้องฟ้าไม่ใช่แสงเหนือ แต่เป็นแสงไฟเมืองหรือถนนที่สะท้อนกับก้อนเมฆ หรืออาจเป็นแสงจากเรือไดหมึก

อย่างไรก็ตามเจ้าของโพสต์ออกมายืนยันว่าเป็นรูปที่ถ่ายเองและไม่ผ่านการตกแต่งใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังยืนยันว่า จุดที่ถ่ายแสงสีเขียนที่เขาพะเนินทุ่ง อยู่สูงจากน้ำทะเลเป็นพันเมตร และติดชายแดนไทย – พม่า เป็นไปได้ว่าอาจไม่ใช่แสงจากเรือไดหมึก

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงประเด็นดังกล่าว โดยมองว่าปรากฏการณ์แสงสีเขียวที่พบ มาจากแสงไฟของเรือไดหมึก โดยระบุว่า

“ไฟไดหมึก ที่แก่งกระจาน สาเหตุที่ต้องใช้ไฟสีเขียวเพราะว่าช่วงความยาวคืน 495 ถึง 970 นาโนเมตรเป็นช่วงที่ปลาหมึกชอบและอีกอันนึงก็หลอกปลาหมึกว่ามีแพลงต้อนหรืออุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของมันมันก็จะเข้ามาใกล้เรือชาวประมงก็จัดการจับมันได้ง่าย ช่วงปลายฝนต้นหนาวก็จะเป็นฤดูไดหมึกเรือประมงฝั่งพม่าก็จะเยอะหน่อยครับบนภูเขาก็จะมองเห็นท้องฟ้าเป็นสีเขียว”

โพสต์ ดร.วีรชัย

เสียงสีเขียว เรือตกหมึก
ภาพจาก Facebook : Weerachai Phutdhawong

แสงเหนือเกิดจากอะไรกันแน่

สำหรับปรากฏการณ์แสงเหนือ – แสงใต้ หรือที่เรียกว่า ออโรรา (Aurora) ข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ระบุว่า เป็นปรากฏการณ์การเกิดแนวแสงสว่างสีต่าง ๆ บนท้องฟ้ายามค่ำคืน มักเกิดขึ้นในแถบประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตละติจูดสูง บริเวณขั้วโลกที่มีอุณหภูมิต่ำ อากาศหนาวเย็น หากเกิดบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ จะเรียกว่า แสงเหนือ (Aurora borealis) ส่วนที่เกิดใกล้ขั้วโลกใต้ จะเรียกว่า แสงใต้ (Aurora australis)

แสงเหนือเกิดจากอนุภาคอิเล็กตรอน โปรตอน หรือไอออนอื่น ๆ ที่ปล่อยมาจากดวงอาทิตย์ เมื่ออนุภาคเหล่านี้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก จะชนเข้ากับโมเลกุลของก๊าซต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศ จากนั้นจะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงสีที่แตกต่างกันไป เช่น หากชนกับก๊าซออกซิเจนจะให้แสงสีเขียวหรือแดง หากชนกับก๊าซฮีเลียมจะให้แสงสีฟ้าหรือชมพู เป็นต้น

นอกจากนี้ หากต้องการดูแสงเหนือ โอกาสที่พบได้มากที่สุดคือช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนเมษายน เนื่องจากเป็นช่วงที่กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน โดยเราสามารถตามล่าหาแสงเหนือได้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบขั้วโลกเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น เข่น สวีเดน ประเทศนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ประเทศฟินแลนด์ เป็นต้น

แสงเหนือ

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button