ประวัติ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา สามีคุณหญิงกอแก้ว อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ล่วงลับ
เปิดประวัติ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา สามีคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา กับเส้นทางการรับราชการตำรวจถึง 36 ปีเต็ม
ชื่อของตระกูล บุญยะจินดา ถูกกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง จากข่าวที่คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา และ นายณพ นรงค์เดช พร้อมที่ปรึกษาทางกฎหมาย ได้แถลงข่าวเปิดใจหลังศาลพิพากษาชนะคดีมาตลอด 6 ปี พร้อมเผยข้อมูลสำคัญโต้กลับทุกข้อหา เกี่ยวกับคดีครอบครัว และคดีหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ยืนยันความบริสุทธิ์ใจ
ในวันนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับสามีของคุณหญิงกอแก้วอย่าง พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ล่วงลับ รวมทั้งเป็นคุณพ่อของนักร้องดังยุค 2000 อย่าง ดัง-พันกร บุณยะจินดา พร้อมกับประวัติการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือข้าราชการตำรวจและครอบครัว
เปิดประวัติ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา สามีคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา
พลตำรวจเอก พจน์ บุณยะจินดา เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2479 เป็นบุตรของพระวรสิทธิวินิจฉัย และนางล้อม บุณยะจินดา เป็นหลานปู่พระยาอาจอำนวยกิจ (รั้งตำแหน่งแทนอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข) และคุณหญิงลำใย อาจอำนวยกิจ
จบการศึกษาจากโรงเรียนสารวิทยา จบเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 (ม.8) จากโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา เมื่อปี 2499 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน รุ่นที่ 13 เมื่อปี 2503 สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรการสืบสวนคดีอาญา รุ่นที่ 16 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2511
ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา (บัวทรัพย์) มีบุตร-ธิดารวม 3 คน คือ นางพอฤทัย ณรงค์เดช (บุณยะจินดา), ดัง-พันกร บุณยะจินดา และ นางสาวดวงพร สรวยสุวรรณ (บุตรบุญธรรม) โดย พล.ต.อ.พจน์ ถือเป็นคู่เขยกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากภรรยาของทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน
เส้นทางการรับราชการ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา
ตลอดการรับราชการ 36 ปีที่ผ่านมา พล.ต.อ.พจน์ ได้รับหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในวงการตำรวจมาอย่างยาวนาน ดังนี้
- เมษายน พ.ศ. 2503 ว่าที่ร้อยตำรวจตรี
- พฤษภาคม พ.ศ. 2503 รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อย
- 1 มกราคม พ.ศ. 2504 ร้อยตำรวจตรี[3] (รุ่นเดียวกับพลตำรวจเอกสนอง วัฒนวรางกูร พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ และพลตำรวจเอกจำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์)
- พ.ศ. 2505 รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางกอกใหญ่
- พ.ศ. 2509 รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลสำเหร่
- พ.ศ. 2513 ผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
- พ.ศ. 2517 สารวัตรแผนก 1 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม และทำหน้าที่เป็นหัวหน้า สถานีวิทยุเสียงสามยอด (ส.ส.ส.)
- พ.ศ. 2519 รองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม
- พ.ศ. 2522 อาจารย์วิชากฎหมาย ภาควิชากฎหมาย กองบังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
- พ.ศ. 2523 ผู้กำกับการ 2 สำนักงานเลขานุการ กรมตำรวจ
- พ.ศ. 2524 ผู้แถลงข่าวกรมตำรวจ (สมัยที่ 1) ทำหน้าที่ควบคุม วางแผน และดำเนินการประชาสัมพันธ์ ของกรมตำรวจ
- พ.ศ. 2525 รองผู้บังคับการกองทะเบียน กรมตำรวจ
- พ.ศ. 2526 รองเลขานุการกรมตำรวจ
- พ.ศ. 2527 เลขานุการกรมตำรวจ และผู้แถลงข่าวกรมตำรวจ (สมัยที่ 2)
- พ.ศ. 2529 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
- พ.ศ. 2531 รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
- พ.ศ. 2532 ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานสารนิเทศ) และผู้แถลงข่าวกรมตำรวจ
- พ.ศ. 2533 ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
- พ.ศ. 2534 รองอธิบดีกรมตำรวจ
- พ.ศ. 2537 อธิบดีกรมตำรวจ
การก่อตั้งมูลนิธิบุณยะจินดา เพื่อช่วยเหลือข้าราชการตำรวจและครอบครัว
เมื่อปี 2537 พล.ต.อ.พจน์ บุณยจินดา ได้ก่อตั้ง กองทุนบุณยะจินดา เพื่อพัฒนาโรงพักของเรา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตมาเป็น มูลนิธิบุณยะจินดาเพื่อข้าราชการตำรวจและครอบครัว ที่ได้รับการประกาศเป็นองค์การสาธารณกุศุล ลำดับที่ 658 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ตามประกาศกระทรวงการคลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยสนับสนุนสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่ข้าราชการตำรวจ และครอบครัว
พล.ต.พจน์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2560 สิริอายุรวมได้ 80 ปี โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 ณ วัดธาตุทอง
หลังจากนั้น 6 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ณ สโมสรตำรวจ มีการจัดพิธีเปิดอนุสาวรีย์ พล.ต.พจน์ บุณยะจินดา นำโดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ประธานกรรมการมูลนิธิบุณยะจินดาเพื่อข้าราชการตำรวจและครอบครัว พร้อมทั้งแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานอย่างเนืองแน่น