เปิดประวัติ หลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกรัฐมนตรีจีนผู้ล่วงลับ
เปิดประวัติ “หลี่ เค่อเฉียง” อดีตผู้นำของประเทศจีนผู้ล่วงลับ มือขวาของประธานาธิบดีจีนอย่าง สี จิ้นผิง นักเศรษฐศาสตร์ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า หลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกรัฐมนตรีจีน ได้ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 68 ปี เนื่องจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันภายในบ้านพักนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นจีน โดยทางแพทย์ได้ยื้อชีวิตอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ นับว่าเป็นข่าวเศร้าในช่วงเช้าที่ผ่านมา
หลี่ เค่อเฉียง นับได้ว่าเป็นบุคคลากรทางการเมืองของจีนที่มีความคิดอยู่ขั้วตรงข้ามด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจนกับ สี จิ้นผิง ประธานธิบดีคนปัจจุบัน แม้ว่าจะต้องทำงานร่วมกันก็ตาม วันนี้จึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอดีตนายกรัฐมนตรีจีนผู้ล่วงลับคนนี้กันให้มากขึ้นกว่าเดิม
เปิดประวัติ หลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน
หลี่ เค่อเฉียง เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2498 ณ เขตติ้งหยวน มณฑลอานฮุย พ่อของเขารับราชการท้องถิ่นในมณฑลบ้านเกิด หลี่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อปี 2517 แต่ต้องหยุดเรียนไปในช่วงปี 2517 – 2521 เนื่องจากเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนในสมัยประธานธิบดี เหมา เจ๋อตุง ทำให้หลังจากนั้นเขากลายเป็นเด็กเก็บตัวเงียบ เอาแต่หมกมุ่นกับการอ่านหนังสือและการเรียน
เขาชื่นชอบคณิตศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ รวมถึงชอบวางแผนเป็นที่สุด ทำให้ในปี 2521 เขาได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง คณะนิติศาสตร์ หลังจากสำเร็จการศึกษา จึงได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์กับอาจารย์ที่มีแนวคิดการตลาดที่ไปในแนวทางเดียวกับเขา
ระหว่างช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน หลี่ถูกส่งตัวไปเป็นแรงงานในชนบทเขตเฟิ้งหยาง มณฑลอานฮุย เขาจึงได้เขาร่วมเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (CCP) แถมยังได้รับรางวัล บุคคลผู้โดดเด่นในด้านการเรียนคิดแบบเหมาเจ๋อตุงและนั่นเองเป็นจุดเริ่มเต้นเส้นทางการเมืองเขา
เส้นทางการเมืองของหลี่ เค่อเฉียง
หลี่ ได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกตั้งแต่ปี 2519 กับพรรค CCP ในตำแหน่งเลขาธิการระดับชุมชนของพรรค เมื่อได้สำเร็จการศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขาได้ดำรงตำแหน่งประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย ต่อมาในปี 2523 เขาเป็นเลขาธิการคณะยุวชนคอมมิวนิสต์ (CYL) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง อีกสองปีให้หลังก็ได้กลายเป็นผู้นำระดับสูงสุดของคณะ CYL ในตำแหน่งสมาชิกสำนักเลขาธิการฯ
การได้ขึ้นสู่ตำแหน่งดังกล่าว ทำให้เขาได้มีโอกาสทำงานอย่างใกล้ชิดกับ หู จิ่นเทา ที่เป็นเลขาธิการพรรคฯ อยู่ในขณะนั้น และเขาก็ได้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการใหญ่ของคณะยุวชนคอมมิวนิสต์จนถึงปี 2541 หลี่ได้เก็บประสบการณ์สายการเมืองมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2551 เขาได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีของจีน
หลังจากนั้นไม่นานนัก เขาก็ได้ก้าวสู่จุดสูงสุดในเส้นทางสายการเมืองของตน เมื่อปี 2556 หลี่ เค่อเฉียง ขึ้นรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของจีน อย่างเป็นทางการ ในการประชุมพรร CCP ครั้งที่ 18 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 และมีโอกาสได้ร่วมงานกับประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง สี จิ้นผิง
หลี่ เค่อเฉียง กับผลงานที่โดดเด่น
ตลอดระยะเวลา 10 ปี 2 สมัยในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจีน หลี่ เค่อเฉียง ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีประสบการณ์บริหารพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคแม่น้ำแยงซีเกียงตอนล่างอย่าง มณฑลเจ้อเจียง มลฑลเจียซู และนครเซี่ยงไฮ้
โครงการที่ร่วมมือกับ สี จิ้นผิง จนประสบความสำเร็จจนทั่วโลกต้องจับตามอง อาทิ โครงการกรอบความร่วมมือ GMS (Greater Mekong Subregion) หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน) เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านี้
อีกทั้งในปี 2560 หลี่ได้พูดคุยกับอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกา โดยส่วนตัวเขาสนับสนุนการค้าและการตลาดแบบเสรี และในปี 2561 บริษัท Tesla เลือกที่จะก่อตั้งโรงงานผลิตที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งหลี่คือหัวหอกสำคัญในการดึง Tesla มาลงทุนในจีนได้สำเร็จ
ในเดือนพฤษภาคม ปี 2565 เขาได้เรียกประชุมข้าราชการ พร้อมประกาศว่า ผู้นำสูงสุดของจีนจะนำประเทศสู่ความล่มจม เนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่ทำให้ต้องล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ และประชาชนกว่า 25 ล้านคนถูกห้ามออกจากบ้านนานนับเดือน
จุดสิ้นสุดเส้นทางการเมืองของหลี่ เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2566 เขาก็ได้ก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากดำรงตำแหน่งครบวาระสองสมัย ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเขาไม่ค่อยลงรอยกับ สี จิ้นผิง ในการทำงานการเมือง เนื่องจากความเห็นด้านเศรษฐกิจที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว
ที่มา 1