สำนักงานประกันสังคมชวนนายจ้างและผู้ประกันตนลงทะเบียนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรก ผ่านช่องทางออนไลน์ 12 ตุลาคม 2566 นี้ ล่าสุด เนื่องจากมีผู้ประกันตนลงทะเบียนน้อย จึงเปิดขยายเวลาลงทะเบียนได้จนถึง 10 พฤศจิกายน 2566
การเลือกตั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้ประกันตนมีสิทธิในการกำหนดผู้มาบริหารชะตาชีวิตของตัวเอง ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 เพื่อให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนที่มาจากการเลือกตั้ง ได้เสนอความคิดเห็นและเป็นตัวแทนประชาชนในการเสนอนโยบายต่อรัฐบาล
สำหรับผู้ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งประกันสังคม จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยขั้นตอนและข้อมูลที่ใช้ในการลงทะเบียนเลือกตั้งมีดังนี้
ลงทะเบียนเลือกตั้งประกันสังคมออนไลน์ ใช้สิทธิ ม.33 39 และ 40
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ https://sbe.sso.go.th/sbe/
2. เลือกวิธีการเข้าสู่ระบบผ่านการลงทะเบียน ผู้ประกันตน หรือ นายจ้าง
3. กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อลงทะเบียน ได้แก่
- เลขประจำตัวประชาชน
- เลขหลังบัตรประชาชน
- ชื่อ-นามสกุล
- วัน เดือน ปีเกิด
4. เลือกพื้นที่ในการเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม โดยใส่ข้อมูลตามนี้
- เลือกหจังหวัด
- เลือกเขต หรือ อำเภอ
- เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ติดต่อได้
ข้อควรระวัง : เมื่อเลือกเขตพื้นที่สำหรับเดินทางไปเลือกตั้งแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง
ขั้นตอนการลงทะเบียนเลือกตั้งสำหรับผู้ประกันตน
ขั้นตอนการลงทะเบียนเลือกตั้งสำหรับนายจ้าง
กำหนดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม
หลังจากหมดเขตลงทะเบียน ทางสำนักงานประกันสังคมจะจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ โดยสามารถเช็กรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th
คุณสมบัติและเอกสารผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
สำหรับผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้ง อย่าลืมตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสารการสมัคร และลักษณะต้องห้ามที่ทางสำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ โดยต้องเดินทางมาสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ตั้งแต่วันที่ 25-31 ตุลาคม 2566
คุณสมบัติผู้สมัคร
1. ต้องเป็นนายจ้างหรือผู้ประกันตนในขณะที่ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง
2. ส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 36 เดือน นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
3. ได้ลงทะเบียนผ่านช่องทาง www.sso.go.th เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว
4. มีสัญชาติไทย
5. มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง
เอกสารที่ใช้สมัคร
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2. รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 ชม. ยาวประมาณ 13.5 ชม. จำนวน 5 รูป
3. สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงตนว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
4. กรณีผู้สมัครเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้างซึ่งเป็นนิติบุคคล หรือคณะบุคคลจะต้องมีหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่มีการรับรองไม่เกิน 6 เดือน หรือหนังสือแสดงความเป็นคณะบุคคล
หมายเหตุ : ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจัดทำใบสมัคร และเอกสารหลักฐานตาม (1) (3) และ (4) พร้อมสำเนารวมจำนวน 2 ชุด โดยให้ผู้สมัครรับรองความถูกต้องด้วย
ลักษณะต้องห้าม
1. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือฟั่นเฟืองไม่สมประกอบ
2. ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3. ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
4. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษ สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
5. ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
6. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือ เลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐ หรือ สถานประกอบการของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่
7. ไม่เป็นคู่สัญญา หรือ มีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือ มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
8. ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือ กรรมการ หรือ ที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือ เจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองเว้นจะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม