ท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์

9 สถานที่ทำบุญ “วันออกพรรษา” 2566 ตักบาตรเทโว วัดไหนได้บ้าง

แจกพิกัด 9 สถานที่ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนร่วมประเพณีวันออกพรรษา 2566 ทั้งตักบาตรเทโว ประเพณีชักพระ พร้อมจุดชมบั้งไฟพญานาค

วันออกพรรษา หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยปี 2566 จะตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากปรากฏเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ทั้งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นวันที่พระภิกษุได้มีโอกาสตักเตือนซึ่งกันและกัน

นอกจากความสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว ช่วงออกพรรษายังมีประเพณีต่าง ๆ ให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าร่วมมากมาย อาทิ ประเพณีไหลเรือไฟ ประเพณีรับบัว ประเพณีตักบาตรเทโว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้รวบรวมสถานที่จัดกิจกรรม เพื่อให้ชาวพุทธได้เข้าร่วมได้ทั่วประเทศไทย จะมีที่ไหนที่ชาวพุทธร่วมบุญได้บ้าง เช็กข้อมูลด้านล่างได้เลย

1. ประเพณีไหลเรือไฟ และงานกาชาด นครพนม

ประเพณีไหลเรือไฟ และงานกาชาด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 30 ตุลาคม 2566 บริเวณแม่น้ำโขง และริมฝั่งโขง ถนนสุนทรวิจิตร จังหวัดนครพนม ภายในงานมีการจัดทำเรือไฟของแต่ละอำเภอ รวม 12 อำเภอ แล้วนำมาลอยในคืนวันออกพรรษา โดยนักท่องเที่ยวสามารถชมเรือไฟ และการประกวดเรือยักษ์ได้

ท่านใดที่ชอบการแสดงแสงสีเสียง สามารถเข้าร่วมประเพณีไหลเรือไฟได้เช่นกัน เพราะนอกจากเรือไฟต่าง ๆ แล้วยังมีมหกรรมคอนเสิร์ตที่ยกทัพศิลปินและนักร้องลูกทุ่ง ตลอด 11 วัน 11 คืน สายร่วมบุญที่มีใจรักในเสียงเพลง ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

ประเพณีไหลเรือไฟ และงานกาชาด นครพนม
ภาพจากเว็บไซต์ : tourismthailand

2. ประเพณีรับบัว สมุทรปราการ

ช่วงวันออกพรรษา ประเทศไทยมีประเพณีที่โดดเด่นเลื่องลืออีกหนึ่งประเพณีคือ ประเพณีรับบัว จัดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการที่เดียวในประเทศไทย และที่เดียวในโลก โดยออกพรรษา 2566 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-30 ตุลาคม ณ ที่ว่าการอำเภอบางพลี และวัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ

ประเพณีนี้จะเป็นการตักบาตรพระทางเรือ โดยให้ประชาชนโยนบัวเข้าไปในเรือ พร้อมรับชมขบวนแห่งหลวงพ่อโตทางรถ สักการะหลวงพ่อโตเพื่อความเป็นสิริมงคล อีกทั้งสามารถร่วมรับชมการแข่งขันเรือพาย ชิงถ้วยพระราชทาน ตักบาตรเทโวโรหนะ ประมูลร้านค้าของหนัก เช่น ชิงช้า ม้าหมุน หรือประมูลร้านค้าของเบา เช่น เสื้อผ้า ของเล่น เป็นต้น

ประเพณีรับบัว สมุทรปราการ
ภาพจากเว็บไซต์ : tourismthailand

3. ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง สกลนคร

งานแห่ปราสาทผึ้ง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-29 ตุลาคม 2566 บริเวณศูนย์ราชการ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดสกลนคร โดยไฮไลต์ของประเพณีช่วงออกพรรษานี้คือ ขบวนแห่ปราสาทผึ้งและขบวนวัฒนธรรมชนเผ่าประกอบแสง สี เสียง ณ แยกหอนาฬิกา

ปราสาทผึ้งที่ใช้ในการแห่ มาจากความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชน สร้างขึ้นจากขี้ผึ้งเป็นส่วนประกอบหลัก นอกจากนี้นักท่องเที่ยวสามารถร่วมชมการแสดงพื้นบ้าน การแต่งกายพื้นเมือง การรำมวย การฟ้อนภูไท และร่วมตักบาตรเนื่องในวันออกพรรษาปีนี้

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง สกลนคร
ภาพจากเว็บไซต์ : tourismthailand

4. ประเพณีออกพรรษา และบั้งไฟพญานาคโลก หนองคาย

งานบุญครั้งสำคัญของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างบุญบั้งไฟพญานาค ในวันออกพรรษาทุกปี จะจัดประเพณีออกพรรษา และบั้งไฟพญานาคโลก ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วจังหวัดพิษณุโลก โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2566 ณ ลานวัฒนธรรมริมโขงวัดลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย, ลานเบิกฟ้า อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย, ลานเบิ่งเวียง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และที่ว่าการอำเภอรัตนวาปี อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย

นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนที่สนใจร่วมบุญ สามารถรับชมบุญบั้งไฟ ร่วมพิธีบวงสรวงพญานาค รวมถึงสามารถรับชมการแสดง แสง สี เสียง ตำนานเมืองพานพร้าวและบั้งไฟพญานาค อีกทั้งยังได้ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงสายบูชาพญานาคอีกด้วย

บั้งไฟพญานาคโลก หนองคาย
ภาพจาก Facebook : บั้งไฟพญานาคโลกหนองคาย

5. ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว สุราษฎร์ธานี

ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2566 บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเพณีนี้ได้รับการสืบทอดมานับร้อยปี อีกทั้งการทอดผ้าป่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะแตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากมีการจัดพุ่มผ้าป่าตามหน้าบ้าน รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐและเอกชน

การตกแต่งพุ่มผ้าป่าไม่ได้จัดเพื่อความสวยงามหรือการประกวดเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงวัฒนธรรมภาคอีสานและภาคใต้ ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ชาวพุทธจะได้รับชมการแข่งขันเรือยาว เพื่อชิงถ้วยพระราชทานอีกด้วย

ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว สุราษฎร์ธานี
ภาพจากเว็บไซต์ : เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี

6. ประเพณีชักพระ ยะลา

ประเพณีนี้จัดขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา พุทธศาสนิกชนที่สนใจ สามารถร่วมทำบุญ ชมการประกวดเรือพระ การแข่งขันตีโพน การแข่งขันแทงต้ม ซัดต้ม การแข่งขันขูดมะพร้าว รวมสามารถรับชมนิทรรศการอาหารและขนมพื้นบ้านได้

นอกจากนี้ ประเพณีชักพระมีการอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางเหนือรถ แล้วแห่แหนชักลากไปตามลำน้ำหรือตามถนนหนทาง ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญที่ชาวพุทธทางภาคใต้หรือนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

ประเพณีชักพระ ยะลา
ภาพจากเว็บไซต์ : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

7. ประเพณีตักบาตรเทโว อุทัยธานี

ประเพณีตักบาตรเทโว จัดขึ้นที่วัดสังกัสรัตนคีรี อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2566 นอกจากประชาชนจะได้ร่วมบุญตักบาตรเทโวโรหณะแล้ว จะได้รับการแสดง แสง สี เสียงอีกด้วย

โดยการแสดงแสง สี เสียงพุทธประวัติและรับประทานอาหารสำรับคาวหวาน จัดขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 29 ตุลาคม ส่วนประเพณี ตักบาตรเทโว จะจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม โดยมีพระสงฆ์ 500 รูป เดินลงจากยอดเขาสะแกกรังผ่านบันได 449 ขั้น ลงมายังลานวัดสังกัสรัตนคีรี เปรียบดั่งผู้มีจิตศรัทธา รอรับสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้าที่เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ประเพณีตักบาตรเทโว อุทัยธานี
ภาพจากเว็บไซต์ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุทัยธานี

8. ประเพณีตักบาตรเทโว ขอนแก่น

งานประเพณีตักบาตรเทโว หรือประเพณีตักบาตรเทโว นมัสการองค์พระใหญ่ ไหว้รอยพระพุทธบาท จัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 บริเวณวัดพระบาทภูพานคำ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยชาวพุทธสามารถร่วมตักบาตรเทโวโรหณะ พร้อมกับนมัสการองค์พระพุทธอุตตรมหามงคลอุบลรัตน์ หรือ หลวงพ่อพระใหญ่ และไหว้รอยพระพุทธบาทได้

ประเพณีตักบาตรเทโว ขอนแก่น
ภาพจากเว็บไซต์ : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

9. ประเพณีเขาพระงามเทโวโรหณะ ลพบุรี

ประเพณีเขาพระงามเทโวโรหณะ นมัสการหลวงพ่อพระงาม ตักบาตรข้าวต้มลูกโยน จัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ณ วัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหาร (วัดเขาพระงาม) อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี พุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมงานประเพณีจะได้ทำบุญข้าวต้มลูกโยน ซึ่งเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์เป็นอย่างยิ่ง โดยในปีนี้ ททท. สำนักงานลพบุรี จะนำข้าวต้มลูกโยน มาแจกฟรี สำหรับพุทธศาสนิกชนผู้มาร่วมงาน 300 พวง

ผู้เข้าร่วมจะได้ชมสาธิตการทำขนมไทยชาววัง และสามารถเลือกซื้อขนมมงคลตามประเพณี รวมถึงการสนับสนุนสินค้าจากผู้สูงอายุในตำบลเขาพระงาม อีกทั้งสามารถร่วมนมัสการหลวงพ่อพระงาม เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เนื่องในวันออกพรรษา 2566 ได้อีกด้วย

ประเพณีเขาพระงามเทโวโรหณะ ลพบุรี
ภาพจาก Facebook : ททท. สำนักงานลพบุรี TAT Lopburi Office

พุทธศาสนิกชน หรือนักท่องเที่ยวท่านใดที่สนใจร่วมประเพณีต่าง ๆ เนื่องในวันออกพรรษา ประจำปี 2566 สามารถเดินทางไปร่วมงานประเพณีได้ นอกจากจะได้ทำบุญสร้างกุศล เสริมความมงคลชีวิตแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และร่วมอนุรักษ์ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยให้คงอยู่สืบไปได้อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวสารท่องเที่ยว ททท.

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button