เจ๋ง! ไทยค้นพบซาก ‘อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล’ สายพันธุ์ใหม่ของโลก
เจ๋ง! กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งข่าวค้นพบซาก อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล สายพันธุ์ใหม่ของโลก ในประเทศไทย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย (ทธ.) ตั้งโต๊ะแถลงร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเงิน ประเทศเยอรมนี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวผลการศึกษาวิจัย ซากดึกดำบรรพ์ของอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส” (Alligator munensis) หรือ “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล”
ซากดึกดำบรรพ์นี้ ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา แจ้งกรมทรัพยากรธรณี ขอให้เข้าตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ ที่เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอโนนสูง จ.นครราชสีมา พบเป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น
จากนั้นได้ลงพื้นที่บ้านเจ้าของที่ดิน นายสมพร โนกลาง บ้านสี่เหลี่ยม ต.ใหม่ อ.โนนสูง พบชิ้นส่วนโดยมากเป็นเศษกระดูกแตกหักจนไม่สามารถศึกษาได้ จากการตรวจสอบชิ้นส่วนกะโหลกอัลลิเกเตอร์ที่พบมีสภาพเกือบสมบูรณ์ ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตร
คาดว่า มีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น พบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ถูกศึกษา และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports โดยผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก จากประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล โดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล