อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

ประวัติ “พระเจ้าเสือ” หลวงสรศักดิ์ กษัตริย์สุดโหดแห่งอยุธยา ครองราชย์นาน 5 ปี

ย้อนรอยประวัติ พระเจ้าเสือ หรือ หลวงสรศักดิ์ พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา โอรสของสมเด็จพระเพทราชา ผู้ได้รับการขนานนามว่าโหดร้ายดั่งเสือ

เพิ่งออกอากาศไปได้แค่ตอนเดียวก็กลายเป็นไวรัล สำหรับละครไทยเรื่อง พรหมลิขิต ซึ่งเป็นภาคต่อจาก บุพเพสันนิวาส ที่ได้นักแสดงชุดเดิมกลับมาสร้างสีสันในยุคอยุธยาอีกครั้ง โดยหนึ่งในตัวละครหลักอย่าง หลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ (แสดงโดย ก๊อต จิรายุ) ถือเป็นบทบาทที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด เนื่องจากพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย ทำให้หลายคนสงสัยว่า พระเจ้าเสือ มีประวัติความเป็นมาอย่างไรกันแน่?

Advertisements
ประวัติ พระเจ้าเสือ บุพเพสันนิวาส
ภาพพระเจ้าเสือในละครบุพเพสันนิวาส แสดงโดย ก็อต จิรายุ

หลวงสรศักดิ์ โอรสพระเพทราชา ก่อนปราบดาภิเษกเป็น “พระเจ้าเสือ” ตำนานกษัตริย์คนที่ 29 แห่งอยุธยา

พระเจ้าเสือ มีพระนามเต็มว่า สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี หรือ หลวงสรศักดิ์ (เดื่อ) ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยพระนามว่าเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้มีการระบุประวัติความเป็นมาของพระเจ้าเสือไว้ 2 ทฤษฎี โดยประการแรก มาจากพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่า หลวงสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระเพทราชา

ทว่าในเอกสารพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน แบบตัวเขียน กลับได้มีการระบุว่า แท้จริงแล้ว พระเจ้าเสือ ไม่ได้สืบสายโลหิตจากพระเพทราชา แต่ทรงเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระสนม ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพญาแสนหลวง เจ้าเมืองเชียงใหม่ แต่หลังจากที่ประสูติออกมา พระนารายณ์ได้พระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชาไปเลี้ยงดู

ทั้งนี้พระเจ้าเสือได้เข้าพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระพันวษา หรือพระราชชนนีพันปีหลวง และมีพระสนมเอกคือ พระกรัดนางกัลยาณี โดยพระเจ้าเสือมีพระราชบุตรทั้งหมด 5 พระองค์ได้แก่ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ, สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ, เจ้าฟ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม, เจ้าฟ้าหญิงแก้ว และพระองค์เจ้าทับทิม โดย 2 ใน 5 พระองค์อย่าง สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้กลายเป็นกษัตริย์แห่งอยุธยาในภายหลัง

ประวัติ หลวงสรศักดิ์ ต่อมาคือพระเจ้าเสือ
ภาพพระเจ้าเสือในละครบุพเพสันนิวาส แสดงโดย ก็อต จิรายุ

การขึ้นครองราชย์ พระเจ้าเสือ

ก่อนที่พระเจ้าเสือจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็ก ซึ่งถือเป็นราชการคนโปรดของพระนารายณ์ เนื่องจากมีพระปรีชาสามารถรอบด้าน แต่หลังจากที่พระนารายณ์สวรรคต แล้วเข้าสู่ยุคสมัยของพระเพทราชา พระเจ้าเสือทรงได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น หลวงสรศักดิ์ และกลายมาเป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

Advertisements

ต่อมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2246 หลวงสรศักดิ์ได้ขึ้นครองราชย์แทนพระเพทราชาที่สวรรคต จนได้รับพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ซึ่งพระองค์ได้ครองราชย์นาน 5 ปี 3 วัน ก่อนจะสวรรคตในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2251 ขณะที่มีพระชนมายุได้เพียง 47 พรรษา

สำหรับพระปรีชาสามารถของพระเจ้าเสือ เรียกได้ว่าเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทั้งแผ่นดิน โดยเฉพาะในด้านมวยไทย ซึ่งพระองค์เป็นผู้คิดค้นศิลปะท่ามแม่ไม้มวยไทยที่สืบสานกันต่อจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเก่งในด้านกระบี่กระบองและมวยปล้ำ ตลอดจนงานราชการ บริหารบ้านเมืองอีกด้วย

ทั้งนี้พระเจ้าเสือได้รับการขนานนามว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่โหดร้ายดั่งเสือ เนื่องจากมีพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพอพระทัยเสวยน้ำจัณฑ์ แล้วเสพสังวาสด้วยดรุณีอิตถีสตรีเด็กอายุ 11-12 ปี ถ้าสตรีใดเสือกดิ้นโครงไป ให้ขัดเคือง จะลงพระราชอาชญาถองยอดอกตายกับที่ ถ้าสตรีใด ไม่ดิ้นเสือกโครงนิ่งอยู่ ชอบพระอัชฌาสัย พระราชทานบำเหน็จรางวัล”

“ประการหนึ่ง ถ้าเสด็จไปประพาสมัจฉาชาติฉนากฉลามในชลมารคทางทะเลเกาะสีชังเขาสามมุขแลประเทศที่ใด ย่อมเสวยน้ำจัณฑ์พลาง ถ้าหมู่พระสนมนิกรนางในแลมหาดเล็ก ชาวที่ทำให้เรือพระที่นั่งโคลงไหวไป มิได้มีพระวิจารณะ ปราศจากพระกรุณาญาณ ลุอำนาจแก่พระโทโส ดำรัสสั่งให้เอาผู้นั้นเกี่ยวเบ็ดทิ้งลงไปกลางทะเล ให้ปลาฉนากฉลามกินเป็นอาหาร”

พระเจ้าเเสือ ครองราชย์ ลูกของใคร
ภาพพระเจ้าเสือในรูปเคารพ

พระราชกรณียกิจ พระเจ้าเสือ กษัตริย์แห่งอยุธยา

แม้พระเจ้าเสือจะขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้าย แต่พระองค์ก็เป็นกษัตริย์ที่สร้างผลงานไว้ให้แผ่นดินสยามมากมาย อาทิ

  • ทรงปฏิสังขรณ์มณฑปสวมรอยพระพุทธบาทสระบุรี ต่อจากสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยสร้างเป็นศิลปะ 5 ยอด และปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งอาราม
  • ทรงโปรดเกล้าให้รื้อยอดมณฑปพระมงคลบพิตร เครื่องบนมณฑป เพื่อก่อสร้างใหม่หลังเกิดอัสนีบาตเมื่อปี 2249
  • เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธฉาย ซึ่งต่อมาได้รับการสันนิษฐานว่าพระพุทธฉายนั้นได้ถูกค้นพบในสมัยพระองค์
  • สมเด็จพระเจ้าเสือทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าแตงโมเป็นพระอาจารย์สอนวิชาความรู้แก่พระราชโอรสและพระราชนัดดา
  • ทรงให้มีการปรับปรุงเส้นทางทางไปพระพุทธบาทสระบุรี เพื่อให้เดินทางมาสะดวกยิ่งขึ้น
  • เป็นยุคแห่งการกำเนิดโคลงกำสรวล โดยกวีนามว่าศรีปราชญ์
  • ทรงนิพนธ์เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา (ในสมัยที่ยังเป็นหลวงสรศักดิ์)

กระทั่งต่อมาพระเจ้าเสือ ได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2251 ขณะที่มีพระชนมายุ 47 พรรษา ทำให้สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าท้ายสระ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยาแทน.

พระเจ้าเสือ ครองราชย์ พรหมลิขิต

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button