บันเทิง

ประวัติ “รุจน์ รณภพ” ตำนานวงการบันเทิงไทยผู้ล่วงลับ คุณตาของ “น้ำหวาน ซาซ่า”

ทำความรู้จัก รุจน์ รณภพ คุณตาของ น้ำหวาน ซาซ่า ยอดฝีมือแห่งวงการบันเทิงไทยผู้ล่วงลับ ฝากผลงานมากมายไว้ในความทรงจำของชาวไทย

หลังจากข่าวการเลิกรากันสุดช็อกระหว่าง กวาง AB Normal และ น้ำหวาน ZAZA ทำให้ชื่อของ รุจน์ รณภพ ผู้เป็นตาของน้ำหวาน ซาซ่า กลับมาเป็นที่สนใจของสื่อและชาวเน็ตทุกคนอีกครั้ง Thaiger จะพามาทุกคนมารู้จักประวัติและผลงานของอดีตนักแสดงและผู้กำกับเลื่องชื่อระดับตำนานไทยคนนี้กัน

เปิดประวัติ รุจน์ รณภพ
ที่มา : Thai Movie Posters

เปิดประวัติ รุจน์ รณภพ คุณตาของ น้ำหวาน ซาซ่า

รุจน์ รณภพ หรือชื่อจริง สุรินทร์ เจริญปุระ เป็นนักแสดง นักเขียนบท ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้กำกับละครโทรทัศน์ไทย เกิดวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2474 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีโอกาสร่ำเรียนที่โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ มักกะสัน แผนกการเดินรถ เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่เรียนไม่จบ ทำให้รุจน์ไปท่องเที่ยวยามราตรีในคลับต่าง ๆ จนเต้นรำได้เก่ง มีดีกรีเคยเป็นถึงแชมเปี้ยนลีลาศจังหวะจิตเตอร์บัค อีกทั้งรุจน์เคยประกอบอาชีพนายสิบโททหารม้ายานเกราะด้วย

ชีวิตสมรส รุจน์อยู่กินกับภรรยา 2 คน โดยคนแรกคือ วินีย์ สนธิกุล มีลูกสาวด้วยกัน 4 คน ได้แก่ กุ้ง-วิภาวี เจริญปุระ, แมว-เวณิก เจริญปุระ, ปู-พลอย เจริญปุระ และ ใหม่ เจริญปุระ ภายหลังทั้งคู่เลิกรากัน จึงมาอยู่กินกับ สุภาภรณ์ เจริญปุระ มีลูกด้วยกัน 3 คน คือ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ, ท็อฟฟี่-ภวัต เจริญปุระ และ น้ำพราว-ภรณ์รวี เจริญปุระ

ในช่วงบั้นปลายชีวิต รุจน์ต้องต่อสู้กับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง พาร์คินสัน รวมถึงโรคเส้นเลือดในสมองตีบ อย่างยาวนาน จนกระทั่งวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552 รุจน์ได้เสียชึวิตลงอย่างสงบ ณ บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี สิริอายุรวม 78 ปี

เส้นทางวงการบันเทิงของ รุจน์ รณภพ
ที่มา : Thai Movie Posters

เส้นทางวงการบันเทิงของ รุจน์ รณภพ

ด้วยหน้าตาที่หล่อเหลาคมคายของรุจน์ ทำให้ เบญจมินทร์ นักสร้างหนังชื่อดังเชิญชวนไปแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง ร้ายก็รัก ในปี พ.ศ. 2503 และเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา แต่ด้วยรูปร่างที่ผอมบางทำให้เขาได้รับบทแสดงเป็นพระรอง ตัวร้ายมากกว่ารับบทพระเอก

ในยุคของมิตร ชัยบัญชา รุจน์ถือว่าเป็น 1 ใน 4 นักแสดงสมทบฝ่ายชายที่โดดเด่นที่สุด หรือ จตุรเทพ ประกอบด้วย รุจน์ รณภพ, อดุลย์ ดุลยรัตน์, ชุมพร เทพพิทักษ์ และประจวบ ฤกษ์ยามดี มีผลงานการแสดงมากมาย ภายหลังจึงผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับ แม้ว่าผลงานอาจจะไม่มากเท่าสมัยเป็นนักแสดง แต่กลับกลายเป็นการสร้างชื่อให้กับเจ้าตัวเป็นอย่างมาก

ผลงานที่สร้างชื่อในการเป็นผู้กำกับของรุจน์ รณภพ ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ (พ.ศ. 2523) นำแสดงโดย จารุณี สุขสวัสดิ์ และพอเจตน์ แก่นเพชร และ ภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม (พ.ศ. 2531) นำแสดงโดย จินตหรา สุขพัฒน์ และวรุฒ วรธรรม

รวบรวมทุกผลงานโดดเด่นของ รุจน์ รณภพ
ที่มา : Thai Movie Posters

รวบรวมทุกผลงานโดดเด่นของ รุจน์ รณภพ

ตลอดระยะเวลา 48 ปีที่คร่ำหวอดในวงการบันเทิงไทย รุจน์ รณภพ ได้ฝากฝีไม้ลายมือไม่ว่าจะเป็นการแสดง การกำกับทั้งละครและภาพยนตร์ไว้อย่างมากมาย ทำให้เขาได้รับรางวัลพระสุรัสวดี สาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (คู่กรรม) ในปีพ.ศ. 2531 และรางวัลจากชมรมวิจารณ์บันเทิง สาขา นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (กาเหว่าที่บางเพลง) ในปีพ.ศ. 2537

ผลงานการแสดงละครภาพยนตร์ที่โดดเด่น

  • เจ็ดประจัญบาน (พ.ศ. 2506)
  • นางสมิงพราย (พ.ศ. 2506)
  • ชุมทางหาดใหญ่ (พ.ศ. 2509)
  • ทรชนคนสวย (พ.ศ. 2510)
  • สมิงดง (พ.ศ. 2511)
  • เกาสวาทหาดสวรรค์ (พ.ศ 2512)
  • วิวาห์พาฝัน (พ.ศ. 2514)

ผลงานการแสดงละครโทรทัศน์ที่โดดเด่น

  • ขมิ้นกับปูน (พ.ศ. 2533) รับบท พระยาอภิบาลบำรุง (ปาน ธรรมคุณ) ฉายทางช่อง 7
  • มงกุฎดอกส้ม (พ.ศ. 2539) รับบท เจ้าสัวเชงสือเกียง ฉายทางช่อง 7

ผลงานการกำกับภาพยนตร์โทรทัศน์ที่โดดเด่น

  • บ้านทรายทอง (พ.ศ. 2523)
  • พจมาน สว่างวงศ์ (พ.ศ. 2523)
  • นางสาวโพระดก (พ.ศ. 2524)
  • ปริศนา (พ.ศ. 2525)
  • เจ้าสาวของอานนท์ (พ.ศ. 2525)
  • รัตนาวดี (พ.ศ. 2528)
  • สามอนงค์ (พ.ศ. 2526)
  • คู่กรรม (พ.ศ. 2531)

ผลงานการกำกับละครโทรทัศน์ที่โดดเด่น

  • ความรักกับเงินตรา (พ.ศ. 2541)
  • เจ้าสาวของอานนท์ (พ.ศ. 2542)
  • มัสยา (พ.ศ. 2543)
  • คมพยาบาท (พ.ศ. 2544)
  • แผลหัวใจ (พ.ศ. 2545)
  • โทน (พ.ศ. 2546)
  • แหวนทองเหลือง (พ.ศ. 2547)
ผลงานการกำกับละครโทรทัศน์ที่โดดเด่น
ที่มา : Pantip

ที่มา 1

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button